หมอธีระวัฒน์ ระบุ ภาวะ Long Covid ไทยพบเคส ‘องคชาตไม่แข็ง’ แล้ว แต่กลุ่มอาการ Long Covid ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาวะสมองเสื่อม
กรณีที่สื่อต่างประเทศอย่าง ‘เดอะ ซัน’ รายงานการพบผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 แต่กลับพบผลข้างเคียงหลังรักษาหาย โดยชายคนหนึ่งในสหรัฐฯ เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และ ขนาดองคชาตหดสั้นลง 1.5 นิ้ว ในเวลาต่อมา โดยแพทย์ระบบปัสสาวะในเมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐ ระบุว่าไวรัสได้สร้างความเสียหายแก่หลอดเลือด กระทั่งส่งผลให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และ ‘องคชาตสั้นลง’
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าอาการเหล่านี้เรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะกลางและระยะยาว หมายถึง หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อเป็นเดือน เป็นปี
ทั้งนี้ ผลกระทบนี้เกิดได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทุกอวัยวะ อยู่ที่ว่าใครจะมีอาการมากที่ส่วนไหน ตัวอย่างที่พบมากในขณะนี้ คืออาการนอนไม่หลับ หดหู่ ซึมเศร้า อ่อนเพลีย ทำงานไม่ได้ ขาไม่มีแรง ขาเกร็ง ขาเป็นตะคริว ขากระตุก รวมไปถึงภาวะสมองเสื่อม
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า มีการประมาณว่า ผู้ที่หายป่วยจากโควิดแล้ว ในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน 10-50 % จะมีผลระยะยาว และอาจจะมี 8-20 % ที่มีภาวะทางสมอง ซึ่งหมายถึงสมองเคยเสื่อมอยู่แล้วจะเสื่อมมากขึ้น หรือยังไม่เคยสมองเสื่อม ก็มีอาการสมองเสื่อมขึ้นมา ภาวะนี้เกิดจากกลไกการอักเสบที่มีอยู่ในช่วงที่ติดเชื้อโควิด-19 และระยะหลังๆ แม้ว่าเชื้อจะสงบไปแล้วก็ตาม แต่ยังมีภาวะของการอักเสบลุกลามไปต่ออยู่เรื่อยๆ
กรณีองคชาตเองก็เป็นผลที่ตามมาอีกชั้นหนึ่ง อาจมีการลุกลามของการอักเสบมากขึ้นอยู่ระยะหนึ่ง แม้ว่าเชื้อจะหายแล้วก็ตาม อาจทำให้เส้นเลือดผิดปกติได้ เรื่อง ‘นกเขาไม่ขัน’ สมาคมที่เกี่ยวข้อง ระบุว่าปัญหาในผู้ชายเรื่องนกเขาไม่ขัน เป็นผลพวงจากภาวะความผิดปกติในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ (Erectile dysfunction) มากพอสมควร มากกว่า 10 %
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในประเทศไทยเองก็มีรายงานเช่นกัน โดยหน่วยระบบปัสสาวะของโรงพยาบาลจุฬาฯ มีรายงานว่า ตรวจพบว่าผู้ติดเชื้อที่หายป่วยแล้ว มีอาการ ‘นกเขาไม่ขัน’ ด้วย ซึ่งคงจะสอดคล้องกันกับเรื่องที่อวัยวะเพศหดสั้นลง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า อาการนี้ น่าจะเป็นอาการหนึ่งของภาวะ ‘ลองโควิด’ ส่วนเรื่องการรายงานว่าอวัยวะเพศสั้นลงหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ แต่ถ้าเป็นอาการอื่นๆ ของภาวะลองโควิดนั้นมีแน่นอน
“คนไข้บางรายก็มีความเขินอาย ไม่กล้าปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่พอถามจริงๆ ก็พอได้ทราบว่า มีอาการ แต่ส่วนมากก็ยังมีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ก็จะได้รับยาต้านซึมเศร้า และยาแก้วิตกกังวลไป”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วย คงต้องหาว่าการอักเสบในร่างกายของผู้ป่วยด้วยว่า ยังมีอยู่หรือไม่ หากยังมีกระบวนการอักเสบอยู่ อาจจะต้องจัดการที่กระบวนการการอักเสบด้วย
“ภาวะลองโควิด ขณะนี้เจอเยอะ เพราะคนติดโควิดกันเป็นล้านคน แต่อาการก็จะมีมากบ้าง น้อยบ้าง แต่ที่เป็นกันหนักๆ คือ อาการสมองเสื่อมเยอะขึ้น ภาวะโรคเอสแอลอี (SLE) หรือโรคพุ่มพวงที่เคยควบคุมได้ก็แย่ลง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว