พาณิชย์ เร่งมาตรการช่วย SME ในไทย เพิ่มองค์ความรู้-สร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์-เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศผ่านแรงงานต่างด้าว
ที่กระทรวงพาณิชย์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยครั้งที่ 2/2567 โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวหลังการประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริม และแก้ไขปัญหา SME โดยสรุปเป็นประเด็นดังต่อไปนี้
• บูรณาการให้กับ SME ผ่านการอบรมองค์ความรู้ 4 หลักสูตร 33 วิชาทางเลือก โดยที่ประชุมเสนอเพิ่มหลักสูตรการขออนุญาตเป็น Home Lodge หรือ Home Stay ให้เข้าถึงการจดทะเบียนที่ถูกต้องได้ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้านำข้อมูลสู่ระบบ E-learning และจะมีการอบรมให้ความรู้ต่อไป
• เพิ่มมูลค่าสินค้า GI โดยปี 2567 ตั้งเป้าจะมีสินค้า GI เพิ่มขึ้น 20 รายการ เป็น 211 รายการ จากปัจจุบันที่มี 191 รายการ แบ่งเป็น 2 ประเภท 1.ขายในสภาพวัตถุดิบเดิม ๆ 2.เพิ่มนวัตกรรม เพื่อให้เพิ่มมูลค่า ตั้งเป้ายอดขายสินค้า GI ในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท
• การบริหารสินค้าเพื่อสร้างความสมดุล ตรึงราคาสินค้าไม่ให้ตกต่ำ โดยมีการพูดคุยถึงพืช 3 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น หอม, กระเทียม, หอมหัวใหญ่ มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด
• พัฒนาสินค้าโชห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ ที่มีเกือบ 400,000 แห่ง โดยดึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีองค์ความรู้มาช่วยถ่ายทอดให้กับร้านโชห่วยรายเล็ก เริ่มจากกรุงเทพก่อน และค่อยกระจายสู่ภูมิภาค
• ส่งเสริมการเติบโต SME ในท้องถิ่นผ่าน THAI SME-GP โดยเพิ่มองค์ความรู้ ผ่านระบบ E-learning และลงพื้นที่ ให้ SME มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐฯ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับผู้ประกอบการ
• เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศผ่านแรงงานต่างด้าว สินค้าไทยเป็นนิยมในเมียนมาครองส่วนแบ่ง 30% โดยมีแรงงานเมียนมาจำนวนไม่น้อยทำงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในเรื่องนี้ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังซื้อของครอบครัวแรงงานต่างด้าวให้ซื้อสินค้าไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน
• สร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่จัดหาทำเลค้าขายราคาประหยัดสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ และ SME เพื่อเพิ่มรายได้ โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ 8 ข้อ ได้แก่ ใกล้แหล่งชุมชน เข้าถึงง่าย, มีความหนาแน่นของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นลูกค้า, ผู้คนผ่านตลอดทั้งวัน, ต้นทุนทำเลเหมาะสมกับสภาพพื้นที่, ระยะเวลาสัญญาเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม, มีที่จอดรถเพียงพอและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ, ความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ, ไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของพื้นที่ เช่น กฎหมายข้อบังคับการจัดพื้นที่ (Zoning)
• ในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้หารือกับสถานีบริการน้ำมัน ตลาดชุมชน ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นได้เจรจากับพันธมิตรและได้พื้นที่ราคาลดพิเศษแล้วจำนวน 124 แห่ง และได้ความร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด เจรจากับภาคเอกชน เช่น ตลาดนัด/ตลาดชุมชน ห้างค้าปลีก/ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่การค้าอื่นๆ โดยสามารถเจรจาได้พื้นที่แล้ว จำนวน 3,977 แห่ง เบื้องต้นจะมีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้แฟรนไชส์หรือ SME ที่สนใจ เข้ามาดูพื้นที่ ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และเปิดตัวกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเลือกธุรกิจประมาณปลายเดือน มี.ค.