กรมชลประทาน สร้างแหล่งน้ำต้นทุน หนุนนำภูเก็ตสู่ “เมืองอัจฉริยะ”


เป็นที่ทราบกันดีว่า “จังหวัดภูเก็ต” เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ โดยตั้งอยู่ในทะเลอันดามันฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู มีพื้นที่ประมาณ 543.034 ตารางกิโลเมตร และมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่สร้างรายได้สูงสุดแก่จังหวัดภูเก็ตมากที่สุด

ในแต่ละปีจังหวัดภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกันปีละ 14 – 15 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตปี 2560 พบว่า ขนาดเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต มีมูลค่าประมาณ 227,810 ล้านบาท มีประชากรจำนวน 537,911 คน และประชากรมีรายได้ต่อหัวปีละ 423,509 บาท

ขณะเศรษฐกิจได้ขยายตัวเติบโตขึ้น กลับสวนทางกับปริมาณน้ำต้นทุนใช้งานของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดเเคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมาตลอด จากการศึกษาข้อมูลของโครงการชลประทานภูเก็ต พบว่าจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 153.29 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่ปริมาณน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตที่มีในแหล่งน้ำต่างๆ กลับมีประมาณ 77.29 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งหากนับเฉพาะแหล่งน้ำที่ก่อสร้างโดยกรมชลประทานมีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 29.71 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่

  • อ่างเก็บน้ำบางวาด 10.20 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ 7.20 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • สถานีสูบน้ำคลองบางใหญ่ – บางวาด ที่เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักอ่างเก็บน้ำบางวาดเฉลี่ย 8.00 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ 4.31 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนแหล่งน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น และพื้นที่เอกชนมีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 47.58 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีการขาดแคลนน้ำอยู่จำนวนประมาณปีละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรและหากมองระยะยาวไปถึงปี 2575 จังหวัดภูเก็ตจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำถึง 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้กรมชลประทานจึงได้วางแผนที่จะสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวทางด้านการท่องเที่ยวและการเป็นเมือง Smart City ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การวางแผนการศึกษาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำให้อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ปี 2562 หรือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบ้านโคกโตนด ก่อสร้างระบบสูบผันน้ำไปเติมในอ่างเก็บน้ำคลองบางเหนียวดำซึ่งกรมชลประทานได้มีการสำรวจและออกแบบไว้แล้ว จะมีศักยภาพที่สามารถสูบผันน้ำไปเติมลงในอ่างเก็บน้ำได้ประมาณไม่น้อยกว่าปีละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือสูบเติมให้เต็มในทุกปีได้

  • โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน

กรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจและศึกษาสภาพอุทกธรณีวิทยา บริเวณเกาะภูเก็ต เพื่อประเมินศักยภาพ และความเป็นไปได้ของการกอ่ สร้างเขื่อนใตดิ้นและการพัฒนาแหล่งน้ำ ใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดภูเก็ตโดยกำหนดพื้นที่ศึกษาโครงการทั้งหมด 5 พื้นที่ ได้แก่ แอ่งน้ำใต้ดินกะทู้ อำเภอกะทู้ แอ่งน้ำใต้ดินสามกอง อำเภอกะทู้ แอ่งน้ำใต้ดินบางเทา อำเภอถลาง แอ่งน้ำใต้ดินฉลอง อำเภอเมือง และแอ่งน้ำใต้ดินกะตะ อำเภอเมือง ซึ่งวันใดที่การพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินทั้ง 5 แห่งนี้สำเร็จจะมีศักยภาพของน้ำใต้ดินรวมกันประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร

  • โครงการก่อสร้างแก้มลิงบริเวณอ่าวภูเก็ต

ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตกำลังมีการผลักดันเพื่อให้เกิดการก่อสร้างแก้มลิง บริเวณอ่าวภูเก็ต ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นโครงการที่มีลักษณะคล้ายกับเขื่อนมารีน่า บาร์ราจ ของประเทศสิงคโปร์ซึ่งทำหน้าที่จ่ายน้ำให้ชาวสิงคโปร์และช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อีกด้วยส่วนสาเหตุที่โครงการชลประทานภูเก็ตจะต้องศึกษาเรื่องการวางโครงการบริเวณอ่าวภูเก็ต เนื่องจากปัญหาที่ดินมีราคาแพงและจำนวนประชากรผู้อยู่อาศัยกันเต็มพื้นที่

  • การมีส่วนร่วมของประชาชน

ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนกรมชลประทาน เทศบาลนครภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่ตลอด “เราได้มีการชี้แจงให้ความรู้เรื่อง

“การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ปัญหาอุทกภัย และปัญหาคุณภาพน้ำซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มอบให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่ดูแลและแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำสำหรับทำการเกษตร กรมโยธาธิการและผังเมืองดูแลและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและสำนักงานสิ่งแวดล้อมดูแลและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ เช่น น้ำเน่า น้ำเสียทุกคนเห็นภาพร่วมกัน และพอใจแนวทางแก้ไขปัญหา” นายสมสวัสดิ์ ฉายสินสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานภูเก็ตชี้แจงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา

  • “ภูเก็ต เมืองอัจฉริยะ”( Phuket Smart City)

การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกรมชลประทานและหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้น นอกจากต้องการจะสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การสร้างให้จังหวัดภูเก็ตเป็น “ภูเก็ต เมืองอัจฉริยะ” (Phuket Smart City) ภายใต้นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศรองรับแผนพัฒนาตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0

จังหวัดภูเก็ตได้รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะเพราะเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็ก แต่กลับมีความเจริญในระดับที่สูง เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวมีโครงข่ายด้านการสื่อสารที่ทั่วถึง และเป็หนึ่งในเมืองที่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งในระยะแรก รัฐบาลได้วางเป้าหมายในการพัฒนาเมืองใน 2 พื้นที่ ได้แก่ เขตเทศบาลเมืองป่าตองและเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นสองพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองสูง

 

“อยากจะฝากถึงชาวภูเก็ต การจะสร้างภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะนั้นความมั่นคงทางด้านน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ดังนั้นจึงเชิญชวนเรื่องการช่วยประหยัดน้ำอุปโภคบริโภคกันอย่างเต็มที่รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ อยากให้ช่วยดูแลรักษาไม่ให้เกิดสิ่งสกปรกในคูคลอง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในภายหลัง ซึ่งการร่วมมือเพียงเท่านี้ แต่ออกมาจากสองมือของทุกคนร่วมกันจะสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำให้แก่จังหวัดภูเก็ตได้แน่นอน”ผู้อำนวยการโครงการชลประทานภูเก็ตกล่าวทิ้งท้าย