รูปแบบการค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี สภาพสังคม เศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้ค้าหรือผู้ให้บริการต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุด ขณะที่เทรนด์การค้าออนไลน์ที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศ แต่เป็นการค้าแบบไร้พรมแดน นับเป็น Emerging Markets ที่เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการค้าปลีกแบบออฟไลน์ และออนไลน์ต่างงัดกลยุทธ์เพื่อให้สามารถแข่งขัน และเติบโตได้ท่ามกลางสมรภูมิการค้าที่ดุเดือด
ดังนั้นการศึกษาตลาดรูปแบบใหม่ หรือการเรียนรู้เทรนด์ที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการโฟกัสตลาดที่มีศักยภาพจึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการค้าในยุคปัจจุบัน โดย ‘คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Thai e-Commerce Association) กล่าวว่า ประเทศที่มีการค้าออนไลน์มากที่สุดในโลกเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการค้าปลีกทั้งประเทศคือ ประเทศจีน มีสัดส่วน 20 % ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งประเทศ มากกว่าสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนการค้าออนไลน์ 18 %
“กล่าวได้ว่าการค้าออนไลน์ในจีนโตที่สุด และมีศักยภาพมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นเท่ากับว่าในอนาคตข้างหน้า โอกาสการเติบโตยังมีอีกเป็นสิบเท่า”
ขณะที่ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมด มีมูลค่าเพียง 2-3 % ของมูลค่าปลีกทั้งหมด ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นได้ชัดว่า ที่ผ่านมาเรามองว่าการค้าออนไลน์ในประเทศเติบโต แต่เมื่อดูสัดส่วนในประเทศยังถือว่านี่เพิ่งเริ่มต้น และจะขยายได้มากกว่านี้อีกมาก และนี่คือโอกาส
ค้าออนไลน์ไทยทะลุ 1.2 ล้านล้านภายใน 5 ปี
นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย ระบุอีกว่า จากข้อมูลปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าออนไลน์ของไทยแบบB2C และ C2C มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้น ถ้ามองว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30 % ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า การค้าออนไลน์ของไทยจะมีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท นั่นแปลว่า ถ้าสามารถตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ของคุณเองได้ถึง 30 % ต่อปีหรือมากกว่านั้นก็ยังได้ เพราะตลาดมันยังเติบโตได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการค้าออนไลน์จะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการค้าออนไลน์ในปัจจุบัน จะมีการทำการตลาดแบบ Target Marketing คือ การทำตลาดเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ ชอบสินค้าที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของตัวเองมากขึ้น ดังนั้นเรื่อง ‘เทรนด์’ จึงเป็นสิ่งชี้วัดการได้ไปต่อของธุรกิจการค้าออนไลน์ โดยมี 6 เทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวงการค้าออนไลน์
ค้าออนไลน์ – โซเซียลมีเดีย เส้นแบ่งที่บางลง
คนไทยชอบพูดคุย การปฏิสัมพันธ์กับการค้าเริ่มแยกกันไม่ออก ทั้งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบ Live Streaming ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ค้ากับผู้ซื้อมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แม้แต่ Search Engine อย่าง Google ก็มีความพยายามผันตัวมาเป็น Marketplace ซึ่งนี้เป็นเทรนด์ใหม่ในสหรัฐฯ แต่เดิมบริการของ Google คือการสืบค้นข้อมูล แม้แต่การซื้อโฆษณาเพื่อให้ผู้ใช้ค้นหาร้านค้าเราเจอ แต่ Google จะเปลี่ยนไปเป็น Marketplace ที่ช่วยในการขายสินค้าคุณโดยเก็บเป็นค่าคอมมิชชั่นในการขายสินค้าให้เรา นี่คืออนาคตอันใกล้ จับตาเทรนด์นี้ และฉกฉวยโอกาสให้ดี
Voice Commerce กำลังมา
Amazon ค้าปลีกระดับโลกได้พัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถส่งการทำงานต่างๆ ด้วยคำสั่งเสียง ทั้งต่อยอดด้วยการนำเครื่องมือดังกล่าวมาผสานกับการช้อปปิ้งออนไลน์ โดยที่ผู้ใช้สามารถระบุคำสั่งซื้อด้วยเสียง หรือที่เรียกว่า Voice Commerce นี่จึงเป็นมิติใหม่อีกขั้นที่ล้ำกว่าแบบเดิม ไม่จำเป็นต้อง ‘คลิก’ การค้าออนไลน์ในยุคต่อไป แค่ ‘พูด’ ก็สามารถซื้อสินค้าได้
E-Marketplace เป็นความท้าทายใหม่
ผู้ให้บริการ E-Marketplace มีความพยายามในการหากำไรมากขึ้น รูปแบบที่ผู้ให้บริการช้อปปิ้งออนไลน์ผลิตสินค้าในกลุ่มที่ผู้ประกอบการขายอยู่ ในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อขายแข่ง เทรนด์นี้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ รวมทั้งร้านค้าโมเดิร์นเทรดในปัจจุบัน ที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกับแบรนด์ในราคาที่ต่ำกว่า ดังนั้นการสร้างแบรนด์ และดึงดูดลูกค้าให้สามารถมาซื้อของจากคุณโดยตรงจะสำคัญมาก และต้องไม่พึ่งพาช่องทางออนไลน์เดียว หรือแพลตฟอร์มเดียวในการทำตลาดออนไลน์
Cross-border e-commerce มีบทบาทมากขึ้น
การค้าออนไลน์แบบไร้พรมแดนจะมีความสำคัญมาก จากข้อมูลที่ไพรซ์ซ่าเก็บรวบรวมในปีที่ผ่านมา มีการซื้อสินค้าจาก LAZADA มีทั้งหมด 75 ล้านชิ้น และ 80 % คือสินค้าที่ส่งมาจากประเทศจีน ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าออนไลน์ต้องรู้คือ ปัจจุบันกลุ่มสินค้าประเภทเดียวกัน 80 % คือคู่แข่งที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ การแข่งขันในทุกวันนี้ไร้พรมแดน ดังนั้นต้องหาช่องทางโดยตรงที่สามารถขายสินค้าให้กับลูกค้าของคุณเอง
AI จะมีบทบาทมากขึ้น
เทรนด์นี้ผู้ให้บริการ E-Marketplace จะใช้เทคโนโลยี Robot และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการคัดเลือกสินค้าให้ตรงใจสำหรับผู้บริโภค โดยการให้ระบุข้อมูลส่วนตัวแล้วนำมาประมวลผลจนได้พฤติกรรมความชื่นชอบของแต่ละคน กลายเป็นว่าการค้าออนไลน์ในอนาคต จากเดิมที่เราเป็นคนเลือก จะเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์โดย AI วิเคราะห์ และเลือกให้เราแทน เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา
Omni Channel คืออนาคต
อีคอมเมิร์ซในไทยมีมูลค่าตลาดเพียง 2-3 % เมื่อเทียบกับค้าปลีกทั้งหมด ดังนั้น 97 % คือการค้าปลีกแบบ ‘ออฟไลน์’ ที่มีมูลค่าการค้ารวมถึง 3.2 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ดังนั้นการค้าออนไลน์ คือรูปแบบใหม่ที่คุณใช้สำหรับการเก็บข้อมูล ศึกษาช่องทาง พฤติกรรมของลูกค้า และก็ต้องไม่ลืมที่จะใช้ช่องทางออฟไลน์
‘Omni Channel’ การผสมผสานหลากหลายช่องทางการขายเข้าด้วยกัน เพราะทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต่างก็มีจุดดี จุดด้อยของตัวเอง อย่าโฟกัสเพียงรูปแบบเดียวหรือช่องทางเดียว แต่ต้องผนวกเข้าด้วยกัน สุดท้ายลูกค้าก็ต้องการช่องทางที่สะดวกกับพวกเขามากที่สุด เพื่อสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (Seamless Experience) ให้ได้
กรณีศึกษา E-Commerce Park ทางรอดธุรกิจไทย
สำหรับการค้าแบบไร้พรมแดน การที่จะเข้าไปบุกตลาดต่างประเทศ นอกจากรู้เรา และยังต้อง ‘รู้เขา’ โดยในที่นี้เรากำลังระบุถึง ‘การบุกตลาดจีน’ โดยกูรูที่จะมาโฟกัสภาพชัดๆ ในเรื่องนี้คือ คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย (Thai Digital Trade Association) และผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA นักพัฒนาโครงการระบบแพลตฟอร์มการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลเพื่อการค้าและการพัฒนามูลนิธิแจ็คหม่า ที่ปรึกษาอาวุโสสมาคมอีคอมเมิร์ซจีนแผ่นดินใหญ่ เขาคนนี้เรียกได้ว่าเป็นคนไทยที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับ ‘แจ็คหม่า’ เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซแดนมังกร ที่จะมาเล่าถึงการสร้าง E-Commerce Park ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และขับเคลื่อน GDP ของจีน และเป็นกรณีศึกษาสำหรับอีคอมเมิร์ซไทยที่จะรุกตลาดจีน E-Commerce Park สถานที่ ‘Everything’ ให้คนทำธุรกิจ E-Commerce
ก็เหมือนโรงเรียนสอนทำธุรกิจที่เริ่มตั้งแต่คนที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยตั้งแต่ระดับ MSMEs (Micro, Small, Medium and Enterprise) เป็นเหมือนระบบ E-Commerce Ecosystem ของจีน นึกภาพนิคมอุตสาหกรรมที่มีทุกอย่างที่ธุรกิจต้องการ บริการด้านธุรกรรมรวมทั้งการจัดหาวัตถุดิบ และต่อรองให้ได้ต้นทุนที่ต่ำสุด ผสมกับการเป็น ‘โรงเรียนประจำ’ ที่ต้องกินนอนภายในนั้น
ผู้ประกอบการในแต่ละปาร์คสามารถเข้าไปเรียนรู้อบรมคอร์สระยะสั้น และระยะยาว วัดผลกันที่ออเดอร์และยอดขาย เมื่อจบหลักสูตรการเรียนปฏิบัติจริงในการทำธุรกิจ มีใบปริญญารับรองให้ไปกู้แบงก์ได้สูงสุด 5 แสนหยวน โดยในปัจจุบันจีนมี ‘ปาร์ค’ เกือบ 2 พันแห่งทั่วประเทศ มากที่สุดคือที่หางโจว พื้นที่ของอาลีบาบา ในแต่ละปาร์คจะมีการผลิตสินค้าเฉพาะด้าน เช่น ปาร์ครองเท้า จะผลิตเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรองเท้า ปาร์คโทรศัพท์มือถือ ก็จะผลิตแต่ที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ ลองนึกภาพนิคมอุตสาหกรรมที่มีไลน์ผลิตสินค้าที่ซัพพลายกันได้ทั้งหมด
ธุรกิจ E-Commerce Park ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญคือ พาสินค้าจีนออกสู่ตลาดโลกให้เร็วที่สุด ถูกที่สุด และมากที่สุด โดยทำให้ที่ทำงานเป็นเหมือนโรงเรียนกินนอนแถมมีซัพพลายสินค้าทุกอย่างในปาร์ค ทำให้ทุกอย่างมีต้นทุนที่ต่ำแถมลดภาษีในบางส่วน เน้นผลิตสินค้าครั้งละมากๆ ในราคาต้นทุนที่ต่ำ …สิ่งนี้ทำให้สินค้าที่ซื้อจากจีนราคาจะถูกจนเหลือเชื่อ ทำให้เห็นได้ว่าที่ผ่านมาสินค้าราคาถูกจากจีนจำนวนมากทะลักเข้าไทย ทั้งแบบนำเข้าและช่องทางอีคอมเมิร์ซที่ส่งตรงจากผู้ผลิต …เพราะจีนสามารถผลิตสินค้าได้ต้นทุนที่ต่ำ นี่คือบทสรุปของการมีปาร์คนั่นเอง
คำถามคือเราจะแข่งกับจีนหรือรุกตลาดจีนได้อย่างไร เมื่อจีนแข็งแกร่งขนาดนั้น ?
คุณณัฐพร สรุปว่า อย่างแรกถ้าจะแข่งขัน ไทยต้องมีปาร์ค ซึ่งตอนนี้อาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวไป ดังนั้นจึงใช้วิธีที่ 2 คือ ‘ไม่ต้องแข่ง’ แต่ใช้ลักษณะการเข้าไปเป็น Partner แต่สิ่งที่ต้องทำก่อนไปคือ ต้องไปจดสิทธิบัตร จดเครื่องหมายการค้า จดอนุสิทธิบัตร รวมทั้งถ้าเป็นของกินของใช้ก็ต้องมีมาตรฐานที่จีนรับรองก่อน เรื่องนี้สำคัญมากศึกษาให้ดี สินค้าไทยที่คนจีนนิยมมีทั้งที่เกี่ยวกับความงามและอาหาร
ทางด้าน คุณวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประธานในการจัดงานสัมมนา “รุกตลาดไทย บุกตลาดจีนด้วยอีคอมเมิร์ซ” ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ และเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในการค้าออนไลน์ และการค้าไร้พรมแดนเพื่อขยายช่องจำหน่ายสินค้าไปตลาดจีน ได้กล่าวในการปาฐกถาเปิดงานสัมมนาดังกล่าวว่า โลกแห่งการติดต่อสื่อสารทำให้รูปแบบการค้าเป็นการค้าไร้พรมแดน ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่หน้าร้าน หรือเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น
ขณะที่ประเทศจีนนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากในด้านอีคอมเมิร์ซ ข้อมูลสหประชาชาติได้ประมาณการว่า ปี 2562 นี้ จีนจะมีประชากรประมาณ 13,395 ล้านคน นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และนับเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่การจะทำการค้ากับจีนให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และจับทิศทางของการค้าออนไลน์กับประเทศจีนให้ถูกจุด ธนาคารกรุงเทพ จึงจัดสัมมนา “รุกตลาดไทย บุกตลาดจีนด้วยอีคอมเมิร์ซ” ครั้งนี้ เพื่อมาแนะนำผู้ประกอบการในเรื่องเทรนด์ในปัจจุบันของอีคอมเมิร์ซ รวมถึงแนวทาง และลู่ทางการค้าออนไลน์ กับประเทศจีน เพื่อให้สามารถเติบโตและต่อยอดการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ