เหรียญสองด้าน นโยบาย ‘กัญชาทางการแพทย์’
หลังจากประเทศไทยมีนโยบายปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ท่ามกลางเสียงขานรับอย่างล้นหลามจากเครือข่ายผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะใช้กัญชาในการรักษาโรค แต่อีกด้านหนึ่งยังคงมีประเด็นที่ต้องคำนึงและติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังผลกระทบ กลไกการจัดการ และการเตรียมการเชิงรูปธรรมเพื่อรองรับการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้มีความปลอดภัยและเป็นที่เชื่อถือได้
วงเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
หัวข้อ “การเฝ้าระวังและกลไกการจัดการผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์”
ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ประสบการณ์ และกรณีศึกษาจากกัญชาทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนข้อควรคำนึงต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ไปถึงเป้าหมาย
ประเด็นหลักของเวทีคือ การมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลทางวิชาการที่ครอบคลุมถึง ๕ มิติ ได้แก่
๑) ความรู้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์
๒) นโยบายกัญชาทางการแพทย์ของสถานพยาบาล (Hospital Policy)
๓) ระบบการให้คำปรึกษาต่อการใช้กัญชาในเชิงพิษวิทยา
(Consultation Service & Operation System)
๔) การคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection)
๕) ระบบและการควบคุมกำกับ (Systems & Regulator)
พัฒนาการของการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศมีความเป็นมายาวนาน ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์แผนตะวันตก ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปูข้อมูลพื้นฐานว่า ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากกัญชามาเนิ่นนานนับพันปี แต่ปัจจุบันความรู้เหล่านี้เริ่มหายไป เพราะการผูกขาดและการถูกระบุให้เป็นยาเสพติด
เช่น เดียวกับกัญชาในประเทศสหรัฐ ซึ่งเดิมมีการปลูกอย่างเสรีและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย แต่ต่อมามีการประกาศสงครามยาเสพติด ทำให้กัญชาถูกถอนออกจากตำรับเภสัชด้วยอิทธิพลทางการเมือง จนกระทั่งกัญชากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนทิศทางและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชามีมากขึ้น ปัจจุบันมี ๖๗ ประเทศ สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ และ ๓๔ ประเทศสามารถใช้กัญชาในทางสันทนาการ กัญชาจึงพลิกโฉมมาเป็นตัวขับดันที่สำคัญทางเศรษฐกิจและเกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในวงกว้าง
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอข้อมูลทางวิชาการในการใช้กัญชารักษาโรค โดยเฉพาะการแพทย์แผนตะวันตกที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ เช่น ต้อหิน พาคินสัน ไมเกรน อัลไซเมอร์ โรคจิตเวช ฯลฯ
รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า กัญชามีหลากหลายสายพันธุ์และมีสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป รวมถึงมีสารบางตัวที่ก่อให้เกิดการเสพติดได้ โดยพบว่ามีโอกาสเสพติดประมาณ ๘ เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการใช้แพร่หลายมากขึ้น เชื่อว่าอาจเกิดการเสพติดมากขึ้นเช่นกัน และหากใช้ในปริมาณสูงเกินกำหนดก็อาจเกิดพิษได้ในบางราย สิ่งที่พึงระวังคือ การใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสมตามกระบวนการทางการแพทย์
“โดยสรุปคือกัญชามีประโยชน์ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการเสพติดและการเกิดพิษในบางราย ดังนั้นควรใช้อย่างถูกต้องตามข้อบ่งชี้และอยู่ในการดูแลของแพทย์” กล่าว
ข้อเสนอของ รศ.พญ.รัศมน ย้ำว่า ควรมีการกำหนดเส้นแบ่งให้ชัดเจนระหว่างการใช้กัญชาทางการแพทย์กับการใช้เพื่อสันทนาการ เพราะหากมีการใช้อย่างกว้างขวางแล้ว อาจทำให้เส้นแบ่งนี้พร่าเลือนจนไม่อาจควบคุม
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงภาพรวมการใช้กัญชาทั่วโลกว่า ปัจจุบันมีประมาณ ๑๔๐ ประเทศ ที่ถือว่ากัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ยังมีโทษ ดังนั้น หากจะใช้กัญชาทางการแพทย์จึงควรมีมาตรฐานในการผลิต มีการให้คำแนะนำวิธีใช้แก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงมีข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีอาการทางจิต เป็นต้น
สำหรับภาพรวมของสถานการณ์เกี่ยวกับการขอรับคำปรึกษาในการใช้กัญชาทางการแพทย์ ศูนย์พิษวิทยาได้มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อมูลสถิติของผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยปัจจุบันประเทศไทยระบุให้ใช้กัญชาใน ๔ โรคหลักๆ ได้แก่ แก้อาการคลื่นไส้จากเคมีบำบัด อาการปวดประสาท กล้ามเนื้อหดเกร็ง และโรคลมชัก
ผศ.นพ.สหภูมิ สรุปไว้ว่า การใช้กัญชาในประเทศไทยขณะนี้ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด หากมีการใช้กัญชาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ติดตามอย่างใกล้ชิด และหากจะนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคต่างๆ ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุน
“ในอนาคตการพัฒนากัญชาทางการแพทย์จะต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ รับฟังข้อมูลของทั้งสองฝ่าย เคารพซึ่งกันและกัน ข้อมูลที่ได้จึงจะยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย” ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าว
วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า กัญชาปรากฏอยู่ในสังคมไทยมานาน ทั้งการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน แม้กระทั่งในวรรคคดีไทย แต่ทำอย่างไรจึงจะเกิดจุดสมดุลระหว่างการใช้กัญชาของประชาชนด้วยความรู้ความเข้าใจ กับการวางระบบกลไกการจัดการทางการแพทย์ให้ถูกต้องเหมาะสม
“เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว หลายคนเคยดูถูกผมว่า ขมิ้นชันจะแก้อาการท้องอืดได้อย่างไร ฟ้าทลายโจรจะรักษาอาการหวัดได้จริงหรือ เสลดพังพอนจะยับยั้งโรคเริมได้อย่างไร มาวันนี้กัญชาก็กำลังถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน”
เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย มองว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ควรขีดเส้นเพดานให้ชัดเจนระหว่างเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ กับการใช้กัญชาสำหรับผู้ป่วย เพื่อจะได้พบทางออกที่ลงตัวและเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ทางด้าน นพ.บริรักษ์ ลัภนะกุล รองผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาเรื่อง “ถ้อยคำ” อาจเป็นปัญหาหนึ่งของกัญชา ในอนาคตจึงควรระบุเป็นชื่อตัวยาที่ชัดเจน แทนการใช้คำว่ากัญชาที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกสิ่งล้วนมีประโยชน์และโทษ อาทิ การใช้กัญชาอาจมีผลต่ออาการทางจิตถึง ๑ ใน ๓ ของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้การพัฒนากัญชาทางการแพทย์จึงต้องย่างก้าวด้วยความระมัดระวัง
ด้านนางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้ความเห็นว่า ประเด็นกัญชาถือเป็นประเด็นที่ท้าทายเพราะมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกิดขึ้น แม้แต่ในระดับนักวิชาการ ยังแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย ในส่วนภาคประชาชน บางส่วนคิดว่ากัญชาคือภูมิปัญญา บางส่วนคิดว่าเป็นสิ่งเสพย์ติดให้โทษ ดังนั้น กระบวนการตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติหรือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ เพราะก่อนที่จะมาถึงกระบวนการสมัชชาฯได้นั้น จะต้องผ่านการทำกระบวนการย่อยมาก่อนหลายกระบวนการ อาทิ กระบวนการภาคประชาชนร่วมกับการแพทย์
“บทบาทของ สช. จะเป็นการเปิดพื้นที่กลางเพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป” นางอรพรรณ กล่าว
บทสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ จึงควรมีการรื้อฟื้นองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกัน ต้องเฝ้าระวังการใส่ร้ายป้ายสีให้แก่กัญชา เนื่องจากปัจจุบันมีการลักลอบผลิตกัญชาแบบสังเคราะห์ ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย ทางออกประการหนึ่งที่วงเสวนานำเสนอคือ ต้องทำให้กัญชาเข้าสู่ระบบสาธารณสุขอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถระบุที่มาที่ไปได้ชัดเจน และมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน หากทำได้เช่นนี้จะสามารถช่วยปลดปล่อยความทุกข์ของผู้ป่วยได้อย่างมหาศาล