บุคคลชลประทาน ฉบับนี้ จะพาไปรู้จักกับ ชายผู้มีความใฝ่ฝันว่าจะรับทำงานราชการรับใช้ประชาชนตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยทำบัตรประชาชน เขาคนนี้ เป็นคนอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชื่อว่า นายปริญญา กมลสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านวิศวกรรมชลศาสตร์) สำนักวิจัยและพัฒนา ที่มีผลงานในระดับประเทศมากมาย
จะเป็นข้าราชการแบบคุณพ่อ
ปริญญา เล่าว่า เขาเกิดและเติบโตมาจากครอบครัวที่คุณพ่อเป็นข้าราชการครูและมีคุณแม่เป็นแม่บ้าน มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยปริญญาเป็นพี่ชายคนโตที่ต้องแบกความคาดหวังของครอบครัวซึ่งภายหลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปริญญาก็มุมานะจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตรได้แรงจูงใจมาจากคุณพ่อที่นอกจากจะรับราชการแล้วท่านยังมีอีกครึ่งชีวิตเป็นชาวนา
“ผมเห็นความขยันของคุณพ่อที่เป็นครูและยังต้องทำนาหาเลี้ยงครอบครัวและผมก็ยังเห็นปัญหาในเรื่องน้ำแล้งตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี จึงคิดว่าเราจะต้องศึกษาทางด้านการเกษตร เป็นข้าราชการให้ได้แบบคุณพ่อ แล้วนำความรู้มาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในวงกว้าง”
วิศวกรรมชลศาสตร์
พ.ศ. 2527 ไม่นานนักหลังจากศึกษา จบในระดับปริญญาตรี ปริญญาไม่รอช้าที่จะร่ำลาครอบครัวมาสอบเข้ารับราชการที่กรุงเทพมหานคร เขาได้สมัครงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่กรมพัฒนาที่ดินประมาณ 5-6 เดือนโดยเวลาต่อมากรมชลประทานได้เรียกเข้ามาบรรจุ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2527 ในตำแหน่งข้าราชการวิศวกรโยธา ระดับ 3 ฝ่ายชลศาสตร์ ประจำอยู่ที่กรมชลประทานปากเกร็ด อยู่ภายใต้กองวิจัยและทดลอง ซึ่งปัจจุบันเป็นสำนักวิจัยและพัฒนา
“มีคนมากมายสงสัยว่าชลศาสตร์คืออะไร ชลศาสตร์ในงานชลประทานเป็นงานวิชาการ ที่ประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในการศึกษาวิเคราะห์การไหลของน้ำ การควบคุมปริมาณและทิศทางการไหลในระบบส่งน้ำและระบายน้ำ การเก็บกักน้ำ และการพัฒนารูปแบบอาคารชลประทานให้มีความเหมาะสมทันสมัย เช่น อาคารระบายน้ำล้นของเขื่อน ฝาย คลองส่งน้ำและประตูระบายน้ำ เป็นต้น การทำหน้าที่วิศวกรในงานชลศาสตร์ เริ่มจากการตรวจวัด รวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับระดับน้ำปริมาณน้ำ สภาพลำน้ำ รูปแบบอาคารชลประทานที่ใช้ส่งน้ำและบังคับน้ำ นำมาศึกษา ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะพฤติกรรมการไหล ในการวิเคราะห์ปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Model) และสร้างแบบจำลองทางกายภาพ (Physical Model) ย่อขนาดได้สัดส่วนกับของจริงจำลองการไหลของน้ำเสมือนจริงในลำน้ำ ผ่านประตูระบายน้ำ ผ่านฝาย ผ่านอาคารระบายน้ำล้นของเขื่อนภายใต้สภาวะต่างๆ จากน้อยจนถึงน้ำมาก ให้เห็นจริงจนมั่นใจว่าสิ่งก่อสร้างจริง จะไม่เกิดปัญหาใดๆ”
สิ่งที่มุ่งมั่น 2 ประการ
ปริญญาบอกอีกว่า การรับราชการกับกรมชลประทาน เขามีสิ่งที่มุ่งมั่นจะทำอยู่ 2 ประการ โดยประการที่ 1 คือการทำหน้าที่ให้สมกับเป็นข้าราชการรับใช้ประชาชนให้ได้ดีที่สุด และประการที่ 2 คือการศึกษาให้มาก เพราะยิ่งมีความรู้มาก ประชาชนก็ยิ่งได้รับประโยชน์จากเขามากยิ่งขึ้น
“สำหรับเรื่องเรียนนั้นผมตระหนักอยู่เสมอว่า ยิ่งมีมากก็ยิ่งเกิดประโยชน์ระหว่างที่ทำงานไปด้วย ผมจึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ จบเมื่อปี 2545 และปริญญาเอกที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology, AIT) ใน สาขา Agricultural Systems And Engineering หรือระบบวิศวกรรมเกษตร ศึกษาจบเมื่อปี 2554”
ผลงานสร้างชื่อ “เรือกำจัดวัชพืชน้ำขนาดเล็ก”
นอกจากจะมีการศึกษาสูงที่เหมาะสมกับตนเองที่ใช้ชื่อว่า “ปริญญา” แล้วปริญญาเล่าว่า เขายังมีผลงานวิจัยค้นคว้า และทดลองต่างๆ มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ผลงานการสร้างเรือกำจัดวัชพืชน้ำขนาดเล็ก และการทดลองแบบจำลองโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโกลก อันเป็นผลงานที่เขาภาคภูมิใจ
สำหรับเรือกำจัดวัชพืชน้ำขนาดเล็กปริญญายอมรับว่าผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่ท้าทายและไม่ตรงสายงานที่ปฏิบัติอยู่ แต่เขาก็ได้ขออนุญาตกับหน่วยงานให้ได้ทำการค้นคว้าและวิจัย โดยมีความคิดริเริ่มจากการจะแก้ไขปัญหาในคลองซึ่งเรามักพบผักตบชวาและวัชพืชเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่ลักษณะนี้เรือกำจัดวัชพืชขนาดใหญ่จะไม่สามารถเข้าถึงได้และหากใช้สารเคมีก็จะทำให้คุณภาพน้ำไม่ดี แต่เรือขนาดเล็กกำจัดวัชพืชที่มีขนาดกว้างเพียง 2 เมตร จะสามารถขนย้ายและลำเลียงเข้าไปในพื้นที่ได้ครั้งละจำ นวนหลายๆ ลำ โดยสร้างเสร็จเมื่อปี 2555”
ผลงานต่อมา คือ การทดลองแบบจำลองกายภาพของปากแม่น้ำโกลกในโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโกลกบริเวณพรมแดนประเทศไทย (จังหวัดนราธิวาส) กับประเทศมาเลเซีย พบว่าปากแม่น้ำโกลกมีตะกอนทรายงอกยื่นจากชายฝั่งด้านมาเลเซียเข้ามาปิดปากแม่น้ำเป็นจำนวนมาก การระบายน้ำออกทะเลไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำ และที่สำคัญร่องน้ำลึกที่กำหนดเป็นแนวเขตแดนทั้งสองประเทศมีแนวโน้มเบี่ยงเบนเข้ามาในเขตแดนไทย นับเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข
“ย้อนไปเมื่อ ปี 2535 ผมได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมงานโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยได้ร่วมสร้างแบบจำลองทางชลศาสตร์ จำลองคลื่นทะเลที่พัดเข้ามาบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำโกลก แล้วทำการทดลองหาแนวทางปรับปากแม่น้ำให้มีเสถียรภาพคงที่ ไม่ให้ทรายงอกยื่นจากฝั่งมาเลเซียเข้ามาในเขตไทย และปากแม่น้ำเปิดสู่ทะเลตลอดเวลา โดยการสร้าง Breakwater หรือคันกันคลื่น ลักษณะเหมือนก้ามปูยื่นออกไปทั้งทางฝั่งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เพื่อป้องกันตะกอนและให้ช่องทางน้ำได้ไหลออกทะเลตลอดเวลา นับเป็นความภาคภูมิใจที่จดจำมาถึงทุกวันนี้”
ในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์ปริญญา ไม่ได้อยากให้ตัดจบบทความนี้ด้วยเนื้อหาความภาคภูมิใจในการทำงานของเขาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาอยากใช้พื้นที่ที่เหลือนี้ ส่งต่อความรู้สึกให้น้องข้าราชการชลประทานทุกคนที่ได้มีโอกาสอ่านบทความนี้ว่า
ในปีหน้ากรมชลประทานจะครบรอบ 120 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมชลประทานได้เปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ ซึ่งพบว่าทุกวันนี้การทำงานเราต่างมีเทคโนโลยีเข้าช่วยมากมายแต่อาจทำให้หลายคนลืมฐานรากที่แท้จริงไป นั่นคือการหมั่นศึกษาทบทวนและหาความรู้ใหม่ๆ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าวิ่งไป เราต้องก้าวล้ำเทคโนโลยีเพราะเวลาเกิดอุปสรรคเราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ใช้เป็นและแก้โจทย์ได้สิ่งนี้คือการบ่งบอกว่าเราคือผู้รู้ที่แท้จริง