โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เกิดขึ้นจากความเดือดร้อนของราษฎรในเรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เสียสละพื้นที่ทำกินในการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อ พ.ศ. 2515
ไม่ทรงทอดทิ้ง ราษฎรผู้เสียสละ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของราษฎรผู้เสียสละพื้นที่ทำกินในการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อ พ.ศ. 2515 ได้ทรงติดตามพร้อมกับพระราชทานความช่วยเหลือมาโดยตลอด จากการหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งแต่ พ.ศ. 2548โดยจะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี พร้อมระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำ และอาคารประกอบ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรของราษฎรในนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านและพื้นที่ใกล้เคียง
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยให้ราษฎร ในเขตอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยครอบคลุมพื้นที่แล้งซ้ำซากในเขตตำบลน้ำหมัน และตำบลวังดิน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ รวม 2,787 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่แปลงอพยพจากเขื่อนสิริกิติ์ ใน 4 ตำบลหลัก ได้แก่ ตำบลจริม ตำบลท่าปลา ตำบลหาดล้า ตำบลร่วมจิต และตำบลน้ำหมัน บางส่วน รวมถึงอีก 3 ตำบลในเขตพื้นที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ได้แก่ ตำบลหาดงิ้ว ตำบลบ้านด่าน และตำบลแสนตอ รวมพื้นที่ได้รับประโยชน์ 91,080 ไร่ ครอบคลุม 60 หมู่บ้าน โดยใช้น้ำทำการเกษตร 61.60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมถึงประโยชน์ในด้านการประมง การท่องเที่ยว และการเลี้ยงสัตว์
สายธารแห่งชีวิต
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเปรียบเสมือนสายธารแห่งชีวิตของชาวชุมชนอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยปัจจุบันกรมชลประทานที่สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้เข้ามาพัฒนาความเจริญให้แก่คนในชุมชนในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การแนะนำวิธีสร้างรายได้ เช่น ส่งเสริมการแปรรูปน้ำพริกข่า การเพาะเห็ดนางฟ้า การปลูกกล้วยน้ำว้า รวมถึงการปรับภูมิทัศน์สร้างสกายวอล์คให้กลายเป็นจุดเช็กอินสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว และชาวอุตรดิตถ์ในการเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจในสถานที่งดงามแห่งนี้