บุคคลชลประทานฉบับนี้ ทีมงานวารสารข่าวชลประทาน มุ่งหน้าเดินทางจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดเพชรบุรีระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร เพื่อสัมภาษณ์นายนริศ วงษ์เวช หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการชลประทานเพชรบุรี เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ตลอดระยะเวลา 35 ปีกับบทบาทของการเป็นข้าราชการที่แม้จะมีงานรัดตัวแต่ได้ปันเวลา ปันน้ำใจเป็นจิตอาสามอบความสุขให้สังคม
มศ. 5 รุ่นสุดท้าย
นายนริศ วงษ์เวช เล่าว่า เดิมนั้นเขาเป็นคนจังหวัดกรุงเทพมหานคร อาศัยอยู่ในเขตหนองแขม เกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อและคุณแม่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนด้านการศึกษานั้นเขาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนวัดหนองแขม จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (มศ. 5) จากโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขมนับเป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้ระบบ มศ.ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2525
ละครโทรทัศน์ เรื่อง “ชาวเขื่อน”โดยพื้นฐานนั้น นริศ เป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง เขามักทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิชาฟิสิกส์ได้ดีเสมอ ภายหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษา ได้เลือกเข้าศึกษาที่คณะสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ แต่เมื่อศึกษาไปได้เพียง 1 ปีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อเขาได้
ดูละครโทรทัศน์ที่ชื่อว่า “ชาวเขื่อน”
“ละครเรื่องชาวเขื่อน เป็นบทประพันธ์ของคุณมนันยา ธนะภูมิ ที่เขียนจากประสบการณ์จริง จากการตามคุณสุขสมธนะภูมิ ที่เป็นวิศวกรกรมชลประทานควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง ด้วยความรู้สึกประทับใจ เพียงเท่านี้ก็ทำให้หันมาศึกษาต่อที่วิทยาลัยชลประทานในทันที”
33 ปีที่ลำปาว
พ.ศ. 2529 ภายหลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยชลประทานแล้ว นริศที่เป็นข้าราชการชลประทานหนุ่ม ได้เลือกที่จะไปปฏิบัติงานประจำอยู่ที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว แต่ใครเล่าจะรู้ว่าคนหนุ่มจากเมืองหลวงจะมาทำงานประจำที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ยาวนานถึง 33 ปี
“ช่วงที่บรรจุเป็นข้าราชการใหม่ๆ ผมได้บรรจุที่โครงการชลประทานอุบลราชธานีอยู่ 3 เดือน หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ตั้งแต่ พ.ศ.2529 – 2562 อยู่ไปก็เริ่มผูกพัน ได้สร้างครอบครัวที่นี่ และได้เป็นหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เรียกว่าอยู่ในฝ่ายนี้นานถึง 33 ปี ซึ่งไม่คิดว่าจะมีคนอื่นที่อยู่ในฝ่ายนี้ได้นานกว่าผม โดยไม่คิดที่จะย้ายไปประจำที่อื่น”
เกษตรพันธสัญญา
นายนริศ วงษ์เวช ในช่วงที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 เขาได้สร้างผลงานที่น่าประทับใจไว้มากมายหนึ่งในนั้นคือ การเข้าไปเป็นตัวกลางในการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ภายใต้แนวคิดของนายวิชัย สงวนไพบูลย์ นายช่างหัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวในเวลานั้น
“เขื่อนลำปาว เป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่สามารถกักเก็บน้ำได้ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในช่วงปี 2529 ที่ผมเป็นข้าราชการใหม่ ปีนั้นเป็นปีที่เริ่มมีการส่งน้ำเข้าเต็มระบบ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำงานเกษตรเต็มรูปแบบ แต่ปรากฏว่าราคาผลผลิตกลับตกต่ำ ยิ่งปลูกยิ่งจน ผมจึงเข้าไปแก้ปัญหาด้วยการเป็นผู้ประสานงานในการทำ Contract Farming อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการทำเกษตรที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกรกับบริษัทเอกชน เช่น บริษัททำอาหารกระป๋อง โดยมีการตกลง ‘ราคาประกัน’ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงราคาไม่ได้จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา เกษตรกรก็จะสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาที่ดี ส่วนด้านผู้รับซื้อก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ”
บริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
สำหรับนริศที่เป็นคนตรงไปตรงมาเขามองว่าผลงานรายบุคคลไม่ใช่สิ่งที่สำคัญกับเขาที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการเคารพในหน้าที่อย่างเช่นงานบริหารจัดการน้ำและงานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวซึ่งเป็นงานตามภารกิจหลักของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว แม้เขื่อนลำปาวจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มาก แต่น้ำที่ไม่เคยเต็มความจุ จึงทำให้ในบางปีเกษตรกรต้องประสบวิกฤตการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมในบางปีที่มีปริมาณฝนตกมาก
ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งทำให้นริศและเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรและกำลังคนในการปฏิบัติภารกิจทันทีหากเกิดเหตุวิกฤตน้ำท่วมหรือน้ำแล้งขึ้น
ชลประทานจิตอาสา
นอกเหนือจากภารกิจภายใต้งานชลประทานแล้ว นริศ ยังนับเป็นนักกิจกรรมตัวยง เขาเป็นคนเรียบง่ายและชอบแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่น ในวันว่างเขาจะจัดทริปกับกลุ่มเพื่อนสนิทไปปั่นจักรยานทางไกล หรือเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักดนตรีเปิดหมวก เครือข่ายจิตอาสาหารายได้สมทบ “โครงการอุ่นกายไม่หนาวใจ” เพื่อจัดซื้อเสื้อกันหนาว อุปกรณ์การเรียน ตามโรงเรียนที่ขาดแคลนในจังหวัดกาฬสินธุ์ และ “โครงการเดินวิ่งปั่นเพื่อชาวกาฬสินธุ์” เล่นดนตรีเปิดหมวกรับบริจาคเงินหารายได้ จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ตึก 100 ปีกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศิลปินชื่อดัง เช่น อี๊ด โปงลางสะออนและก้อง ห้วยไร่ รวมถึงเป็นสมาชิกชมรม STRONG ซึ่งคัดเลือกสมาชิกจากหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมกันต้านทุจริตประเทศไทยของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นับว่าน่าชื่นชมเป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน นริศ ไม่ได้ปฏิบัติงานที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวโดยเขาได้ย้ายมาโครงการชลประทานเพชรบุรี ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เพื่อใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งในจังหวัดเพชรบุรี และในปีหน้า พ.ศ. 2565 เขาจะเกษียณอายุราชการแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากบอกน้องๆ ข้าราชการชลประทานทุกคนว่า “ควรทำงานแบบมืออาชีพ ใช้ชีวิตให้มีความสุขสนุกกับงาน และเป็นชลประทานมืออาชีพ”