เปิดภารกิจมูลนิธิทันตนวัตกรรม 10 ปีแห่งการค้นคว้า ปฏิบัติ และพัฒนา


มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดภารกิจ 3 ด้าน สืบสานพระราชกระแสในหลวงรัชกาลที่ 9 ดำเนินงานด้านทันตนวัตกรรม เน้นหลักการ ค้นคว้า ปฏิบัติ และพัฒนา 10กว่าปีที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือประชาชนผ่านหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ฯ ทั้ง 8 หน่วย ได้มากกว่า 5 แสนคน คิดค้นนวัตกรรมด้านทันตกรรมผลิตใช้ได้เองภายในประเทศทดแทนการนำเข้า ช่วยภาครัฐประหยัดเงินได้มหาศาล ล่าสุด ร่วมกับภาคีเครือข่าย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาบริการนวัตกรรมทางด้านทันตกรรม (Digital Dentistry) ตั้งเป้าดูแลผู้สูงอายุ ให้มีสภาวะสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นต่อไป

 

 

นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยในโอกาสจัดกิจกรรม “มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ พบสื่อมวลชน” ว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการจัดตั้งมูลนิธิฯ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนการให้บริการด้านทันตกรรมแก่ประชาชนผ่านหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปแล้วประมาณ 500,000 คน รวมทั้งมีโครงการที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงนวัตกรรมที่ผลิตได้ภายในประเทศ โดยให้เครือข่ายนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชน อย่างเช่นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มากกว่า 30,000 คน

มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมเป็นหน่วยงานหนึ่งในหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต่อมามีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ เมื่อปี พ.ศ2552 ตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ว่าทันตแพทย์ไม่ควรจะทำการรักษาอย่างเดียว ควรจะได้มีการคิดค้น พัฒนาวิจัย และพัฒนา เพื่อที่จะผลิต วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ขึ้นมาใช้เองในประเทศด้วย โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นผู้ดำเนินการ

เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจของมูลนิธิฯ มีหน้าที่หลักอยู่ 3 ประการ คือ ภารกิจแรกเป็นฝ่ายเลขานุการของหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีหน่วยบริการอยู่ทั้งหมด 8 แห่ง ก็คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนเรื่องวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือในการออกให้บริการประชาชน ซึ่งแต่ละปีสามารถให้บริการประชาชนได้ประมาณ 50,000 คน ภายใน 10 ปี มียอดรวมประมาณ 500,000 กว่าคน

ภารกิจที่ 2 คือทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมสำหรับนำไปรักษา แก้ไข ฟื้นฟู ป้องกัน ทางทันตกรรมให้กับประชาชน ปัจจุบันนี้ มีผลิตผลซึ่งเกิดจากการวิจัยและพัฒนาของมูลนิธิฯ 3 กลุ่ม ก็คือ กลุ่มอาหารทางการแพทย์ เช่น เจลลี่โภชนา อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก วุ้นชุ่มปาก หรือนวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจลสำหรับผู้ที่มีภาวะปากแห้งน้ำลายน้อยหรือผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าถึงประชาชนผู้ใช้ได้ประมาณ 240,000 คน ในช่วงเวลา 10 กว่าปี ที่ผ่านมา
กลุ่มเครื่องมือแพทย์มี รากฟันเทียมสำหรับผู้สูญเสียฟัน ฟันเทียมทั้งปาก ซึ่งฟันเทียมประเภทนี้จำเป็นมากสำหรับผู้สูงอายุซึ่งจะต้องได้ใส่ฟันเทียมเพื่อที่จะได้มีฟันเทียมเคี้ยวอาหาร

นอกจากนี้ยังมีสารผนึกหลุมร่องฟันเรซิน เอาไว้สำหรับป้องกันฟันผุ กรณีผู้ที่ที่มีปัญหาหลุมร่องฟันซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาฟันผุ ล่าสุดผลงานที่สำคัญคือ งานวิจัยและพัฒนาผลิตน้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อในช่องปากจากหญ้าแฝก ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งที่ผ่านมาใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นหลัก

ภารกิจส่วนที่ 3 คือร่วมกับภาคีเครือข่ายในการให้บริการกับประชาชน เกิดโครงการต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง เช่นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งปกติแล้วรากฟันเทียมหนึ่งซี่ราคาแพง แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประชาชนได้รับบริการฟรีไปแล้วประมาณ 30,000 กว่าคน คิดเป็นมูลค่าในการประหยัดเงินได้มหาศาล
เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวต่อว่า มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานสิ่งสำคัญไว้หลายประการ แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือเรื่องที่มีแนวพระราชกระแสเกี่ยวกับการค้นคว้า ปฏิบัติ พัฒนา ซึ่งทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ มีทิศทางที่ชัดเจน และเนื่องจากในเวลานี้เป็นยุคดิจิทัล เป็นกระแสของโลก ในปี 2565 ถึงปี 2570 มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนระบบการให้บริการทันตกรรมเดิมที่เรียกว่า Analog ไปสู่ Digital System เพื่อทำให้ประชาชนนับสิบล้านคนเข้าถึงการให้บริการ รวมทั้งเข้าถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกิดจากการวิจัย พัฒนาของมูลนิธิฯ

“เราให้ความสำคัญกับวิจัยและพัฒนา ซึ่งยังมีหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้เป็นพระราชกระแส เป็นรับสั่งสุดท้ายก่อนสวรรคตว่า ผู้สูงอายุอย่างเรามีจำนวนมาก ทันตแพทย์ต้องช่วยดูแล ซึ่งผู้สูงอายุปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นถึง 14 ล้านคน อันนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญที่มูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายจะต้องหากรรมวิธีที่จะดำเนินการที่จะทำให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นได้รับการดูแลรักษาทางด้านทันตกรรมให้เหมาะสมและมีสภาวะสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นต่อไป” เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว