สคช. ร่วมเวทีเสวนาวันผู้ย้ายถิ่นสากล เติมเต็มช่องว่างความเท่าเทียม ให้กลุ่มแม่บ้านหรือลูกจ้างทำงานบ้าน ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ
นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเวทีเสวนาเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day) ปี 2566 จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ร่วมกับกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการคุ้มครองลูกจ้าง ที่ทำงานบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับลูกจ้างในอาชีพอื่นๆ โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม” ท่ามกลางผู้บริหารหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงาน กลุ่มแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ทำอาชีพคนทำงานบ้าน เข้าร่วมในงาน
ในการนี้นางสาววรชนาธิป ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ลูกจ้างทำงานบ้าน : คุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา บาทบาทความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย” กับผู้แทนปลัดกระทรวงแรงงาน นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย นายกอบ เสือพยัคฆ์ อดีตประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น นายประทีป โมวพรหมานุช เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และนาวสาวภัคชนก พัฒนถาบุตร ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดย ดร.กฤษฎิ์ กาญจนกิตติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นางสาววรชนาธิป กล่าวในการเสวนาว่า จากข้อมูลในประเทศไทยมีกำลังแรงงานที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน หรือทำงานบ้านอยู่ประมาณ 317,224 คน โดยกว่า 203,000 คน เป็นคนไทย ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยอีกกว่า 5,000 คน และอีกกว่า 109,071 คน เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และอาจไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานได้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกำลังแรงงานกลุ่มนี้ จึงได้มีการดำเนินการในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงให้ความสำคัญกับจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเห็นอกเห็นใจเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย นอกจากนี้ สคช. ยังได้ร่วมกับ IOM เพิ่มเติมความรู้ให้กับแรงงานข้ามชาติ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับช่างก่ออิฐ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า อาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) และอาชีพแม่บ้าน เพื่อให้ได้รับการรับรองจากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม สร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย และสามารถนำไปใช้ประกอบการทำงาน ภายหลังกลับไปยังภูมิลำเนาได้ต่อไป