ตลอดปี 2566 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ปักหมุดหมายการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสีเขียว (Green Development Bank) อย่างชัดเจนด้วยการนำเอาแนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social, Governance: ESG) มาใช้ในการทำงาน
นอกจากนั้น ธนาคารได้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำในพื้นที่ชุมชนรอบธนาคารแล้ว ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทำโครงการสัญจรไปในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นอยู่ยั่งยืน” ให้ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนกับชาวบ้าน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ดังเป้าหมายสู่บทบาทเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนทำให้ทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยประเทศไทยให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลไทยลงนามในสัตยาบันต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ว่า ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 อย่างไรก็ดี EXIM BANK ตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571
“ในบทบาทของ Green Development Bank ผมเห็นว่าสถาบันการเงินเป็นส่วนสำคัญ EXIM BANK จึงได้พยายามที่จะใช้ Green Finance สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวและปฏิบัติตามมาตรการเข้มงวดทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน อาทิ การผลิต การตลาด ที่มุ่งสู่ความยั่งยืน โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนด้านความรู้ โอกาส และเงินทุน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อย ทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ควบคู่กับการสานพลังกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย” ดร.รักษ์ กล่าว
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในปี 2567 ธนาคารมีเป้าหมายที่จะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนการปรับตัว Go Green ของผู้ประกอบการเพิ่มอีก โดยอาจจะเป็นการนำเอาคาร์บอนเครดิตมาแลกกับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับดอกเบี้ยต่ำเทียบเท่าผู้ประกอบการรายใหญ่ใน Supply Chain เดียวกัน
นอกจากนี้ ธนาคารจะออกพันธบัตร Blue Bond เป็นครั้งแรกเพื่อขับเคลื่อน Blue Economy ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้เป็นแหล่งการจ้างงานและแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่ง Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของโลกจะสูงขึ้นแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 20 ปีก่อน ขณะที่ผืนน้ำและมหาสมุทรช่วยผลิตก๊าซออกซิเจน (O2) บนโลกมากถึง 50% ช่วยดูดซับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 90% ดูดซับก๊าซ CO2 กว่า 25% ทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงราว 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังมีช่องว่างของเงินลงทุนเหลืออยู่มากถึงเกือบ 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP ไทย
“ธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Banks) ทั่วโลก รวมถึง EXIM BANK มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจมากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance โลก โดย EXIM BANK ได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่สนับสนุนโครงการหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง สู่ชั้นบรรยากาศโลก คาดว่าพอร์ตสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ EXIM BANK ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ราว 61,500 ล้านบาท หรือ 35% ของสินเชื่อคงค้างรวมของธนาคาร” ดร.รักษ์กล่าว
เพื่อตอกย้ำการเป็น Green Development Bank และสนับสนุนให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) EXIM BANK ได้จัดงาน “EXIM Green Wishes Market” ขึ้น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อส่งความสุขในโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2567 ให้แก่ลูกค้าธนาคาร โดยเฉพาะ SMEs และกลุ่มเปราะบางในชุมชน ผ่านการออกร้านจำหน่ายสินค้าและกิจกรรมประมูลของรักของหวงของผู้บริหาร EXIM BANK ลูกค้า และหน่วยงานพันธมิตร ส่งต่อรายได้จากการประมูลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายให้แก่มูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การศึกษา ธุรกิจและรายได้ของชุมชนที่ยั่งยืน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ โดยได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “Green Wishes” แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ESG ด้วย
ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กล่าวว่า การใช้ชีวิตของคนไทยได้สร้างมลพิษและขยะขึ้นมาก และยังมีตัวเลขที่ยังไม่เคยเปิดเผยอีกมาก ตัวการหลักในการสร้างก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของโลกร้อนคือ ภาคการพลังงานและขนส่ง ซึ่งการทำให้ลดลงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะใน 2 ภาคนี้มีคนตัวเล็กเกี่ยวข้องมาก ทางแก้ไขของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก การจัดการป่าไม้ต้องมีประสิทธิภาพกว่านี้
“ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเชื่อที่ว่าเราตัดไม้ทำลายป่าไม่ได้ ต้องมีต้นไม้ล้มก่อนจึงจะตัดได้ เช่นไม้พยุง ต้นพยุงลมจึงจะตัดได้ ใครไปตัดก่อนจะถูกจับทันที ซึ่งน่าจะเป็นความเชื่อที่ผิด การตัดไม้เอาไปทำประโยชน์เช่นทำเฟอร์นิเจอร์แทนพลาสติกหรือวัสดุอื่นที่สร้างมลภาวะ ช่วยสร้างมูลค่า และไม่ทำให้โลกร้อนการทำลายก็ง่าย ถ้าเราสามารถทำให้ดีสร้างมูลค่าให้ต้นไม้มากขึ้น คนจะปลูกต้นไม้มูลค่าสูงในที่ดินของตนเองมากขึ้น ไม่ได้ไปตัดไม้ในป่าสงวน รัฐต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ที่ทำจากไม้ให้มากกว่านี้” ผศ.ดร.ประชา กล่าว
ผศ.ดร.ประชา กล่าวต่อไปว่า อยากให้สถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้ให้ดี แล้วประเทศจะได้ประโยชน์จากการที่มีป่าสมบูรณ์อีกมาก เช่น มีผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูง ถ้าไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำผึ้ง การลดคาร์บอนนั้นคนไทยทุกคนทำได้ผ่านการบริโภค การเลือกใช้หรือเลือกรับประทาน ใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ก็จะช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยมือเรา
นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘เกรซ’ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจมีการเติบโตเร็วมาก เนื่องจากขณะนี้คนเริ่มเล็งเห็นแล้วว่า การบริโภคสร้างมลภาวะให้โลกมากขนาดไหน การใช้โฟมเริ่มขึ้นเมื่อปี 2523 คนทั้งโลกใช้โฟมเฉลี่ยวันละ 1.8 ชิ้นต่อคนต่อวัน ผ่านมา 40 ปีสร้างขยะให้โลกมหาศาลหากยังคงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้นอีกมาก การใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดขยะให้โลก ลดค่ากำจัดขยะไปปีละหลายหมื่นล้านบาท
“สิ่งที่เกรซทำ คือ การนำเอาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยและเราก็ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วย เช่น ผู้ที่ปลูกข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วก็ไม่ต้องเผาฟางข้าว ตัดส่งมาขายเรารับซื้อทั้งหมด ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น การรับซื้อผักตบชวามาใช้ก็ช่วยลดขยะในแม่น้ำลำคลองในขณะที่บรรจุภัณฑ์ของเกรซใช้เวลา 30 วันก็ย่อยสลายได้หมด และไม่มีการปล่อยสารพิษและสารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งออกมาตลอดเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะ ขณะนี้เรามีลูกค้ามากกว่า 33 ประเทศทั้งโลก อยู่ในทุกอุตสาหกรรม ” นพ.วีรฉัตร กล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจรีไซเคิลขาดพลาสติก PET ของบริษัทมีการเติบโตสูงมาก ปัจจุบัน สินค้า ของใช้ เสื้อผ้า และสิ่งต่างๆ เมื่อผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ผู้บริโภคจะให้การตอบรับเป็นดีมากเพราะเริ่มมีกระแสดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อผู้บริโภคร่วมซื้อ จะผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามไปด้วย
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวย้ำว่า การลดโลกร้อนเริ่มได้ด้วยตัวเราเองก่อน แล้วจึงจะขยายผลออกไปสู่ระดับประเทศและระดับโลก โดยคนไทยปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยน 3 ตัน/คน/ปี ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อย 20 ตัน/คน/ปี ประเทศจีน เฉลี่ย 8 ตัน/คน/ปี คนไทยมีวันอากาศดีไม่มีฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ได้ 50 วันใน 1 ปี ถ้าค่าเฉลี่ยขึ้นไปที่ 5 ตัน/คน/ปี จะเหลือวันอากาศดีแค่ 30 วันใน 1 ปี ดังนั้นการร่วมกันช่วยลดโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน
ดร.รักษ์ กล่าวว่า นับแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 400 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังพัฒนาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น สินเชื่อ Solar Orchestra และ EXIM Solar D-Carbon Financing ที่ไม่เพียงให้เงินทุน แต่ยังช่วยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสินเชื่อ EXIM Green Start ดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับ SMEs หรือคนตัวเล็กที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว