เปิดแล้ว Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 53


งาน  Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่  53 ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า    อิมแพค เมืองทองธานีจะได้พบกับ  Highlight ในงานคือ

 

1.   Business Matching  หรือการจับคู่เจรจาทางธุรกิจ ซึ่งมีมาอย่างอย่างต่อเนื่อง และในครั้งที่ 53 นี้ มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการในการจับคู่ทางธุรกิจมากกว่า 350 ราย สามารถเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับได้มาก

 

2. Design Pavilion Trend  2015  ซึ่งจะเป็นการจัดแสดงผลงานการออกแบบจิวเวลรี่ และเครื่องประดับ ของคนรุ่นใหม่  สะท้อนถึงวัฒนธรรมและรูปแบบของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

3. การยกเว้นอากรนำเข้าร้อยละ 20 สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่นำมาจัดแสดง และขายภายในงาน  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเมื่อนำวัตถุดิบไปผลิตสินค้า หรือจำหน่ายต่อ และยังเป็นการสร้างเครือข่ายการขนส่ง สั่งซื้อวัตถุดิบอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ในปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดทำโครงการ Product Champion พัฒนาศักยภาพสินค้า และตลาดเครื่องประดับเงิน โดยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการค้าในตลาดสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกเครื่องประดับเงินสำคัญของไทย สำหรับงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ถือได้ว่าเป็นงานแฟร์ที่ใหญ่ติดอันดับโลก โดยที่ผ่านมาพยายามผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี  เนื่องจากมองว่าธุรกิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทย ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก  เพราะการออกแบบที่เป็นเลิศ และมีแรงงานฝีมือคุณภาพ และในปี 2558  เราก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  เป็นประตูแห่งการค้าอัญมณี และเครื่องประดับในภูมิภาคอาเซียนก็จะเปิดกว้างยิ่งขึ้น  ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกต่อการขยายการค้า  รวมถึงการเป็นฐานการผลิต  และการค้า  ซึ่งงานบางกอกเจมส์ฯ  ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ส่งผลให้การค้า และการส่งออกของประเทศไทยเจริญเติบโต และจากการที่ทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนการจัดงานบางกอกเจมส์ฯด้วยดีมาโดยตลอด  จึงทำให้งาน บางกอกเจมส์ฯ เป็นงานแฟร์ที่ดีที่สุดแฟร์หนึ่งของโลก

 

อุตสาหกรรมการค้าอัญมณี และเครื่องประดับในปีที่ผ่านมา  มีมูลค่าการส่งออก 10,085.35  ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยปรับตัวลดลงร้อยละ  23.29  เมื่อเทียบกับปี 2555 เป็นผลจากการส่งออกสินค้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่หดตัวลดลงร้อยละ  50.70  และเครื่องประดับทองที่ปรับตัวลดลงร้อยละ  6.27  ส่วนตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6,812.84  ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 4.65  ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายการส่งออกปี 2556 ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5  สาเหตุเกิดจากสภาพเศรษฐกิจของตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา และยุโรปที่ถดถอย  ประเทศจีนเองก็มีอัตราการเจริญเติบโตลดลงจากเดิม  ถือได้ว่าตลาดอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้  อย่างไรก็ตาม ภาวะราคาทองคำของโลกที่ผันผวนยังคงส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย