“อแกล เดคคอร์”เฟอร์นิเจอร์สไตล์ย้อนยุค เจาะตลาดอาเซียน


แนวโน้มการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในปีนี้ ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แม้อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 8% แต่ปีนี้ตั้งเป้าขยายตัวที่ 5% สมาคมธุรกิจไม้และเลขาธิการอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย เผยตัวเลขส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ได้ที่มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ตลาดส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในตลาดหลักอย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีนี้เฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยจะมุ่งเน้นไปยังตลาดจีนและอาเซียนมากขึ้น โดยถือเป็นตลาดใหม่ ที่โตเร็วมาก

 

บริษัท อแกล เดคคอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านเลียนเเบบของโบราณ ภายใต้ 2 เเบรนด์ มี Agal กับ Fonte โดยสินค้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ เฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก งานปั้น งานหล่อ เเละภาพวาด ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่นี่มีความหลากหลาย มีเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง โซฟา ตู้ใส่ของ โต๊ะเขียนหนังสือ ฯลฯ เบ็ดเสร็จรวมสินค้าทุกประเภท มีกว่า 400 ชิ้น

 

คุณดำรงค์ จงธนะวณิช กรรมการผู้จัดการบริษัท กล่าวว่า ธุรกิจถือกำเนิดขึ้นราว 40ปีก่อน ก่อตั้งโดยคุณพ่อที่หลงใหลของเก่า ของโบราณ และศิลปะ  ซึ่งสะสมหลากหลายรูปแบบทั่วภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำมาตอบสนองความอยากได้ของลูกค้าต่างชาติที่มีรสนิยมเดียวกัน จนกระทั่ง ปี 2540 ประสบวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาท ประกอบกับของเก่าเริ่มหายาก อีกทั้งระยะหลังคนไทยหันมานิยมของเก่า ในที่สุดท่านตัดสินใจทำตลาดในประเทศ พร้อมกับผลิตเฟอร์นิเจอร์เลียนเเบบของเก่าขึ้นมาทดแทน

 

คุณดำรงค์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่า SMEs ไทย มักจะเจอกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฉะนั้นจึงต้องโฟกัสให้ได้ว่าต้องการไปทำธุรกิจประเภทไหน เช่น เป็นการลงทุน หรือการซื้อขาย จากนั้นดูว่าประเทศไหนที่เหมาะกับธุรกิจของเรา

 

อย่างเช่น คุณดำรงค์ ได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องการมองหาแหล่งวัตถุดิบ (ไม้) ที่มีเป็นจำนวนมากและราคาถูกในประเทศพม่า นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่างจะต้องมองหาตลาดที่สามารถขายสินค้าให้ได้ที่โฟกัสเอาไว้คือที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับภาคใต้ของประเทศไทย การนำเสนอสินค้าและให้เป็นที่ยอมรับไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งมาเลเซียยังมีความต้องการสินค้าด้านเฟอร์นิเจอร์อยู่มากพอสมควร จึงถือได้ว่าประเทศนี้เป็นโอกาสของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ก็ว่าได้ ส่วนประเทศสิงคโปร์ เหมาะสำหรับการเป็นพาร์ทเนอร์มากกว่าการเป็นพื้นที่ลงทุนค้าขาย เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก มีพื้นที่น้อยค่าเช่าก็จะแพงตามมาด้วย

 

ไทยมีความรู้ที่เป็นแบบไทยๆ มีประวัติศาสตร์ มีความเป็นมา ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติอยู่แล้ว ถ้าหากสามารถนำมาต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือธุรกิจก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันจุดอ่อนของ SMEs ไทยคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ที่มีอยู่จำกัด ในเรื่องของภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกันไทยเป็นอันดับ 8ด้านภาษาอังกฤษในกลุ่มประชาคมอาเซียน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนา อีกทั้งสภาวะทางการเมืองในปัจจุบันก็ส่งผลให้ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

 

คุณดำรงค์ กล่าวว่า โอกาสการเติบโตของ SMEs ในอาเซียนมีสูงซึ่งคาดการณ์ว่าเมื่อมีการเปิดการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบแล้วเศรษฐกิจไทยจะโตขึ้นถึง 25% ถือเป็นตัวเลขที่สูง แต่สิ่งสำคัญ SMEs ไทยจะต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน และต้องโฟกัสธุรกิจของประเทศให้ได้เพื่อหลีกหนีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมตัวที่จะทำธุรกิจ หรือทำการค้ากับกลุ่มประชาคมอาเซียนคือ การหาข้อมูลองค์ความรู้ในแต่ละประเทศให้ลึกซึ้ง เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของสินค้า วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งภาษาอังกฤษและภาษาพื้นเมืองของแต่ละประเทศ ซึ่งถ้ามีความรู้ในส่วนนี้การเจรจาธุรกิจก็จะยิ่งง่ายขึ้น ส่วนแหล่งข้อมูลสามารถหาได้ที่ กรมการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าไทย กระทรวงอุตสาหกรรม” คุณดำรง ฝากข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย

 

โชว์รูม Agal อยู่ที่ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ หรือ CDC อาคาร B ชั้น 1 ห้อง 101-102 เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2102-2015, 08-3260-4141, 08-3340-9321