ธุรกิจรีไซเคิล 2 รุ่นที่เริ่มต้นจากซาเล้งรถถีบ ขยายเป็นโรงงานมาตรฐาน


เค รีไซเคิล แอนด์ เซอร์วิส เป็นธุรกิจที่ทำกันต่อเนื่องเข้าสู่รุ่นที่2 โดยในรุ่นแรกเริ่มต้นจากการขายของเก่าแบบซาเล้ง เก็บเศษกระดาษและวัสดุเหลือใช้ตามบ้าน โดยถีบหาซื้อตามบ้านต่างๆ ในหมู่บ้านย่านนนทบุรี ต่อมากิจการเจริญเติบโตมากขึ้นจึงตั้งหน้าร้านเป็นตึกแถวย่านปากเกร็ดและตั้งชื่อว่าร้าน ก.เจริญกิจ

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งแรกของก.เจริญกิจคือปี 2526 เริ่มมีโรงงานเข้ามาตั้งในเมืองไทยมากขึ้น โรงงานเหล่านี้มีวัสดุเหลือใช้จากการผลิตที่ถือว่าเป็นขยะของโรงงานที่ต้องการการกำจัดอยู่มาก ร้าน ก.เจริญกิจเห็นว่าเป็นสินค้าอันมีค่า จึงเริ่มเข้าไปซื้อมากขึ้น และถือเป็นก้าวแรกของการทำขยะรีไซเคิล ลูกค้าขยะรีไซเคิ้ลโรงงานแรกของ ก.เจริญกิจคือ บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์ คล๊าค

 

คุณประวิทย์ เจริญกิจสุพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.รีไซเคิล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เล่าว่า ของเหลือใช้ที่ไปซื้อกับโรงงานคิมเบอร์ลีย์ คล๊าคคือบรรจุภัณฑ์และของเหลือต่างๆที่เหลือจากการผลิตกระดาษชำระ การได้ทำงานกับโรงงานซึ่งมีขยะในปริมาณมาก ทำให้กำลังไม่พอที่จะไปซื้อขยะตามบ้าน ส่วนขยะที่ได้จากโรงงานก็ต้องการการคัดแยกสูง เพราะสภาพที่ได้มาเป็นการผสมผสานของเศษวัสดุเหลือใช้หลายประเภท

 

“ของเหลือใช้จากโรงงาน เขาจะมองว่าเป็นขยะ แต่ทางเราจะมองว่าเป็นสินค้า เวลาเราไปซื้อมา ขยะจะผสมผสานกันหลายประเภท ไม่บริสุทธิ์ พอได้มาก็ต้องนำมาคัดแยกเป็นประเภทต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง พลาสติก กระดาษ ต้องแยกให้เป็นวัสดุบริสุทธิ์ไม่มีวัสดุอื่นเจอปน จึงสามารถขายต่อไปยังโรงงานที่ทำการรีไซเคิล เราไม่ใช่โรงงานรีไซเคิล แต่เราเป็นโรงงานคัดแยกเพื่อส่งต่อไปเข้าสู่ขบวนการรีไซเคิล ”

 

เมื่อก.เจริญกิจมีลูกค้าที่เป็นโรงงานมากขึ้น ในระบบโรงงานได้เรียกร้องให้มีระบบการทำงานเป็นบริษัทเพื่อให้เกิดการประสานงานและการทำงานร่วมกันมากขึ้น จึงทำให้ก.เจริญกิจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในปี 2539 จัดตั้งเป็นบริษัท ชื่อ “บริษัท เค รีไซเคิล แอนด์ เซอร์วิส” ให้บริการซื้อและคัดแยกขยะที่ไม่มีสารพิษอันตราย ตลอดจนบริการทำความสะอาดโรงงาน มีการจัดตั้งแผนกต่างๆ ขึ้นมา ตั้งแต่แผนกจัดซื้อ แผนกบัญชี แผนกบุคคล แผนกขนส่ง เหมือนกับบริษัทอื่นทั่วไป เวลาประสานงานกับลูกค้าก็จะเป็นแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประสานกันอย่างมืออาชีพ

 

จากร้านรับซื้อของเก่า ก.เจริญกิจ มาเป็นบริษัท เค รีไซเคิล คุณประวิทย์ บอกว่า ตอนก่อร่างเป็นบริษัทมีความยากพอสมควร เพราะต้องคิดโครงสร้างขึ้นมา และจัดหาคนเข้าสู่แผนกต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น เป็นการยกระดับธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กเข้าสู่ธุรกิจมืออาชีพมากขึ้น

 

จากการจัดตั้งในรูปของบริษัท ทำให้ เค รีไซเคิล แอนด์ เซอร์วิส สามารถที่จะขยายเครือข่ายการรับซื้อขยะหรือวัสดุเหลือใช้จากโรงงานประเภทต่างๆ มากขึ้น ต่อมาจึงได้ขยายเข้าไปรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีระบบมาตรฐานต่างๆ คอยควบคุม และเรียกร้องให้บริษัทที่เข้ามาร่วมทำการค้าจำเป็นต้องมีระบบมาตรฐานควบคู่กันไปด้วย

 

จากความจำเป็นดังกล่าว เค รีไซเคิล จึงเป็นบริษัทรับคัดสรรขยะรีไซเคิลรายแรกๆ ที่เข้าสู่มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม ISO 14001 นับเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของบริษัทขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.รีไซเคิล แอนด์ เซอร์วิส บอกว่า “โครงสร้างการบริหารและการจัดการของเรา ปรับไปตามความเรียกร้องของบริษัทลูกค้า เพราะลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่น หรือไม่ก็เป็นบริษัทต่างชาติอื่นๆ ที่เขามีระบบงาน เขาก็เรียกร้องให้เราต้องมีระบบงานไปคุยกับเขา อาจเรียกได้ว่าเราพัฒนาไปตามข้อเรียกร้องของลูกค้าเป็นสำคัญ

 

คุณประวิทย์เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนมีคนมาทำธุรกิจรีไซเคิลมาก เพราะยังไม่มีกฎระเบียบต่างๆ ออกมาควบคุมมากมายเหมือนปัจจุบัน นอกจากนี้มุมมองของบริษัทต่างๆ มองว่าเป็นขยะ ราคารับซื้อของร้านค้าของเก่าก็จะมีส่วนแบ่งมาร์จินที่ค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันนี้บริษัทต่างๆ หรือว่าโรงงานต่างๆ มองว่าเป็นซากจากการผลิตที่มีมูลค่า จึงใช้วิธีการประมูลใครให้ราคาประมูลสูงคนนั้นก็จะได้ซากจากการผลิตไป เมื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการคัดแยกที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลักแล้วนำไปขายต่อ ซึ่งราคาขายต่อต้องอิงกับราคาตลาดโลกเพราะจัดอยู่ในหมวดสินค้าเก็งกำไรอย่างหนึ่ง ทำให้ส่วนแบ่งกำไรที่เคยได้ในสัดส่วนที่สูงในสมัยก่อน ปัจจุบันนี้ได้ไม่ดีเหมือนเดิม โรงงานรีไซเคิลที่อยู่ได้ต้องอาศัยหลายปัจจัย ทำให้หลายแห่งล้มหายตายจากกันไป

 

ปัจจัยการทำธุรกิจรับซื้อวัสดุ รีไซเคิล นอกเหนือจากการกำหนดราคาประมูลให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแล้ว ปัญหาเรื่องแรงงานถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญมาก เพราะกิจการของรีไซเคิลไม่สามารถอาศัยเครื่องจักร ต้องอาศัยแรงงานเท่านั้น อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นไปเป็น 300 บาทต่อวัน ส่งผลให้ต้นทุนในด้านการจัดการเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ยิ่งกิจการที่มีการจัดตั้งเป็นบริษัท มีต้นทุนด้านสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมายแรงงานกำหนด ยิ่งต้นทุนสูงเป็นเงาตามตัว

 

อย่างไรก็ตาม หลักการบริหารที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดคือการให้บริการที่ประทับใจ ธุรกิจประเภทนี้เมื่อลูกค้าเลือกแล้ว ต้องรีบเข้าไปจัดการนำเอาวัสดุต่างๆ ออกจากโรงงานให้เร็วที่สุดอย่างเป็นระบบ ไม่ไปกระทบกับระบบการผลิตหลักของเขา ถ้าหากทำได้เช่นนี้ก็จะมีโอกาสเรียกให้บริการในโอกาสต่อไป คุณประวิทย์บอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของเขาเป็นลูกค้าประจำ แม้ว่าระบบการจัดจ้างยุคใหม่จะเป็นการประมูลและเป็นคณะกรรมการพิจารณา แต่จากผลงานที่ผ่านมาก็ทำให้เขาสามารถรักษาฐานลูกค้าได้