SME ไทยปรับตัวอย่างไรในโลกยุค 4.0


ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ SME ในงาน Smart SME Expo 2016 ว่า สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและส่งเสริม SME มาโดยตลอด แต่ภาคของ SME ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงในยุค 4.0 จะต้องเน้นการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ SME ซึ่งท่านเองได้กล่าวถึงประโยคที่ว่า “ทำน้อยเหนื่อยน้อยแต่ได้เงินมาก” นั่นคือการนำนวัตกรรมมาใช้ แต่อาจจะไม่ต้องใช้เพียงด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียว สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือใช้วัฒนธรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น เกาหลีที่นำวัฒนธรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ตัวเอง รวมถึง กระทรวงเองมีการให้บริการ SME ในการให้การรับรองมาตรฐานต่างๆ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประเภทอาหารทำให้เป็นเกษตรอินทรีย์และออแกนิค ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้อีกเท่าตัว อาทิ ชาที่แม่สะลอง เป็นต้น และท่านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มอบสโลแกนให้กระทรวงอุตสาหกรรมคือ “Spring” S คือ Standart มาตรฐาน Pr คือ Productivity ผลิตภาพ และIN คือ Innovation นวัตกรรมในการผลิต และยังมีหลักสูตร SME Spring Up ด้วยการคัดเลือก SME ต้นแบบ ซึ่งมี SME เข้าร่วม 80 ราย และคาดว่าปีนี้จะสร้างนักรบ SME ที่เข้มแข็งหรือ SME Spring Up 300 ราย และกระทรวงยังมีที่ปรึกษาให้ SME ทุกประเภทผ่านออนไลน์ที่เรียกว่า E-Consult รวมถึงการช่วยเหลือ SME ด้านกระบวนการปรับเปลี่ยนการผลิตนั้น กระทรวงการคลังได้อนุมัติมาตรการสินเชื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ขอกู้ผ่าน SCB หรือ SME Development Bank ได้ หรือจะใช้คูปองนวัตกรรมในการปรับเปลี่ยนภาคการผลิตของตนเองได้ด้วยเช่นกัน

ทางด้าน ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที ทำหน้าที่ในการทำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งยุคกำเนิดของอินเตอร์เน็ตที่แพร่หลายคือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาและใช้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพื่อใช้หาข้อมูลในการวิจัยต่างๆ แต่ในยุคนี้ ถือว่าเป็นยุคที่ 4.0 ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวาง หรือเป็นยุคที่4ที่ถูกพัฒนา และ SME ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างบริษัทขนาดใหญ่ แต่ SME สามารถใช้เทคโนโลยีได้ไม่แพ้กัน ซึ่งท่านได้นำกราฟเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยี ทราบว่า อันดับ 1 ภายในปี2025 มีผลกระทบจากโมบายอินเตอร์เน็ต ประมาณการณ์ไว้ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบัน GDP โลกประมาณ 70 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง อันดับ 2 คือออโตเมชั่นที่เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี และอันดับ 3 คือ IOT หรือ Internet Of Things คือหัวใจ เพราะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน และจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิต ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจะมีผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กระทรวงไอซีที มีความร่วมมือกับหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงวิทย์ฯ เป็นต้น ซึ่งมี 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 จะวางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสู่ 76,000 หมู่บ้าน ภายในปี 2560 ซึ่งจะสามารถส่งเสริมให้ SME ในแต่ละหมู่บ้านสามารถใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในการทำตลาดได้ 2.ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะเน้น SME เป็นหลัก 3.เรื่องของสังคม ซึ่งจะสามารถให้สังคมเรียนรู้ และรู้ทัน โซเชียลมีเดีย 4.ภาครัฐที่ต้องปรับตัวให้ทันภาคเอกชน ซึ่งมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ 5.คน ซึ่งสำคัญมากเพราะต้องใช้เวลาพัฒนา ดังนั้น SME ต้องให้ความสำคัญว่าอะไรควรพัฒนาและทำก่อนทำหลัง และ6.ความเชื่อมั่น ว่าด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลให้เศรษฐกิจและสังคม

รวมถึง โครงการต่างๆที่เป็นรูปธรรมของกระทรวงไอซีที อาทิ การใช้E-Business ด้วยการนำแอปพลิเคชันมาใช้กับสินค้าคงคลัง บัญชี เพื่อปรับเปลี่ยนขบวนการภายในธุรกิจ และการสร้างมาตรฐานสินค้าให้เสร็จภายใน 2 ปีนี้ โดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ที่กำลังเริ่มทำในประเทศไทย เช่น คนต่างชาติอยากซื้อน้ำพริกศรีราชา แต่เวลาหาน้ำพริกศรีราชาแต่ไม่พบบนเสิร์ทเอ็นจิ้นหรือลิ้งค์ไม่ถึงประเทศไทย ทำให้ไทยเสียโอกาส เป็นต้น และกระทรวงยังมีการเปิด E-Directory เพื่อให้ SME มาลงทะเบียน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและกระทรวงจะทำการประชาสัมพันธ์ และหากเปิดข้อผิดพลาดหรือเกิดปัญหา กระทรวงจะมีคนกลางไกล่เกลี่ยให้เพื่อไม่ให้เรื่องราวถึงศาล

ด้านคุณณรินณ์ทิพ วิริยะบัณฑิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเพิลมีเดีย กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า เรื่อง 4.0 ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งท่านรองนายกได้มีการอภิปรายในภาพรวมว่า 1.0 เป็นเกษตร 2.0อุตสาหกรรมเบา 3.0 เป็นอุตสหกรรมหนัก และ4.0เป็นยุคดิจิทัล แต่ในมุมมองของ SME พัฒนาการในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปี 2500-2520 ประเทศไทยเป็นยุคแรกๆและเป็นของการนำเข้าสินค้า เป็นประเภทซื้อมาขายไป ต่อมาปี 2520-2540 ไทยมีทั้งอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบา SME กลายเป็นภาคผลิตมากขึ้น แต่เป็นในลักษณะดาวบริวารหรือซัพพลายเชน และหลังจากเกิดยุควิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ทำให้ประเทศได้มีการพูดถึงการสร้างนักรบทางเศรษฐกิจคือ SME และเกิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ สสว. SME Development Bank เป็นต้น ยุคนี้ส่งผลให้ SME เริ่มมีตัวตนและหลากหลายมากขึ้น มีการสร้างแบรนด์ ทั้งภาคผลิตและภาคบริการ และเกิดเป็นรูปแบบบริษัทประมาณ 6 แสนกิจการ และในรูปของบุคคลธรรมดาอีก 2 ล้านราย จึงถือว่าเป็นยุคของ 3.0 แต่ในยุคปัจจุบัน ถือว่าเป็นยุคดิจิทัล หรือยุค Internet Of Things เป็นยุคที่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตอย่างครบวงจร

นอกจากนี้ ยังได้เสริมในประเด็นของกราฟเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยี ว่า จะส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม แม้กระทั่งธุรกิจธนาคาร และอีกหน่อยอาจจะกู้เงินผ่านฟินเทค หรือจะเป็นตัวโปรดักส์และเซอร์วิสจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันหมด แต่สำหรับ SME ไทยอาจจะยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ขั้นตอนแรกต้องปรับตนเองให้เข้าอยู่ในดิจิทัลก่อน ให้คนอื่นเข้าถึงได้ง่ายและให้คนรู้จัก

ปัจจุบันนี้ การเข้าถึงข่าวสารนั้นมีทุกช่องทาง จึงได้นำแนวคิดในการสร้างคอนเท้นต์และสร้างเรื่องราวให้กับโปรดักส์ รวมถึงการสอนสร้างเรื่องราวบนโลกออนไลน์ และสร้างแพลตฟอร์มในลักษณะอีคอมเมิร์ซผ่าน www.smesiam.com ในการค้าขายระดับประเทศเพื่อให้ SME มีโอกาสค้าขายออนไลน์ ทั้งการจัดส่งและจัดคลังสินค้าตนเอง รวมถึงมี www.thailandmall.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ค้าขายระหว่างประเทศ มีภาษารองรับถึง 7 ภาษา แต่ต้องเป็นกลุ่ม SME ที่มีความพร้อม ทั้งมาตรฐาน เรื่องราวสินค้าน่าสนใจ การจัดส่ง เป็นต้น