รู้และเข้าใจ(การขยายระยะเวลา) การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม


ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ วี เอ ที หรือ แว็ต (value Added Tax: VAT) เป็นภาษีที่ใช้ในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี โดยหากเปรียบเทียบกับภาษีอื่นตามประมวลรัษฏากร ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้จำนวนมากที่สุด เนื่องจากเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภคหรือซื้อสินค้า หรือบริการเกือบทุกชนิด โดยมีข้อยกเว้นสำหรับสินค้าหรือบริการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เช่น กรณีสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปหรือแปรสภาพเป็นสินค้าอื่น การให้บริการด้านการศึกษา การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมบางกรณี เป็นต้น
สำหรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ประเทศไทยได้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราปกติที่ร้อยละ 10 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนด หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมกฎหมายกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ร้อยละ 10 แต่เหตุใดผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการในอัตราร้อยละ 7 เท่านั้น
   ในการทำความเข้าใจอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการต้องศึกษากฎหมายฉบับอื่นนอกจากพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 เป็นอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับต่าง ๆ (รวมทั้งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.) ซึ่งมีรูปแบบการบัญญัติที่สำคัญ 2 ประการ คือ อัตราภาษี และระยะเวลาการบังคับใช้อัตราภาษี
 

ประเด็นแรก กรณีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับต่าง ๆ เช่น ฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 592) พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ปรับลอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 คงเหลือ 6.3
ทำไมเราต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ทุกครั้งที่มีการจับจ่ายใช้สอย?
เพราะว่า เรามีภาระภาษีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเสียให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น โดยพระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2534 ประกอบกับพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534 ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 เป็นต้นไป กำหนดให้กรมสรรพากรมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3 บวกกับภาษีที่ต้องจัดสรรให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นอีกในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้จึงทำให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนทั้งสิ้นร้อยละ 7 ดังนั้น อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จึงประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6.3 และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 0.7 นั่นเอง

ประเด็นที่สอง ระยะเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่ประเทศไทยนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ กรมสรรพากรได้ออกพระราชกฤษฎีกาฉบับต่าง ๆ เพื่อลดอัตราภาษีมูลค่าจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ตลอดมา เว้นแต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เท่านั้น ที่รัฐบาลได้ปรับใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) เป็นการชั่วคราว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 16 สิงหาคม 254 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ( ฉบับที่ 309) พ.ศ.2540 และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นมา ประเทศไทยคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ตลอดมาโดยปรากฏในพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353)พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 368) พ.ศ. 2543 (ฉบับที่ 383) พ.ส. 2544 (ฉบับที่ 407) พ.ศ.2545 เป็นต้น ซึ่งระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับแตกต่างกัน ปกติจะกำหนดอยู่ที่ 1-2 ปี การกำหนดระยะเวลาสั้น ๆ ดังกล่าวอาจมีเหตุผลเพื่อความยืดหยุ่นในการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องตามสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมีระยะเวลาการใช้ตามที่ พระราชกฤษฎีกากำหนด ซึ่งเมื่อใกล้ครบระยะเวลานั้นแล้วผู้ประกอบการและประชาชนผู้เกี่ยวข้องจะต้องติดตามว่า รัฐบาลมีนโยบายขยายการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีกหรือไม่เพื่อจะได้วางแผนการใช้จ่ายและการลงทุนในอนาคต

 

แหล่งที่มา วารสารสรรพกร ปีที่ 5 ฉบับที่ 54 พฤศจิกายน 2559