7 โรคผิวหนังในช่วงฤดูหนาวที่พึงระวัง


ปีนี้ฤดูหนาวค่อนข้างมาช้าไปสักนิด พื้นที่บางแห่งของประเทศไทย มีทั้งฝนตกให้ชุมฉ่ำ บางแห่งเวลาใกล้ๆ เที่ยงวันก็จะมีแสงแดดที่แรงจัด พอตอนเย็นหรือพลบค่ำหน่อย อากาศก็เริ่มเย็นลง ซึ่งถึงแม้ว่าอากาศหนาวจะมาช้าไปสักนิด แต่ในหลาย ๆ จังหวัด โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิที่ลดต่ำลงแล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ชอบอยู่เที่ยวบนเขาบนดอยสูง ๆ ต้องระวังเรื่องการเจ็บป่วยให้ดี เพราะอากาศในแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงได้ทั้งวัน หลาย ๆ คน อาจปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ก็สามารถเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงอยากให้คำแนะนำเพื่อเป็นความรู้สู่ประชาชน เกี่ยวกับโรคผิวหนัง 7 โรคสำคัญที่ประชาชนควรพึงระวัง ดังนี้

  •  โรคสุกใส หรือ บางคนเรียกอีสุกอีใส ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่แล้วมักจะมีอาการรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็ก โรคสุกใสเกิดจากจากเชื้อไวรัส ชื่อVaricella virus ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง และการสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย ในขั้นแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และต่อมาจะเริ่มมีเป็นตุ่มน้ำ ใสๆเหมือนหยดน้ำขึ้นตามตัว ถ้าเป็นแล้วต้องระวังแบคทีเรียแทรกซ้อน และถ้าเป็นในผู้ใหญ่ต้องห้ามแกะเกาเด็ดขาดเพราะจะเป็นหลุมแผลเป็นได้ง่าย
  • โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดสุกใส (Varicella virus) จะเกิดในผู้ที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหาย เชื้อไวรัสจะหลบเข้าไปในปมประสาทรับความรู้สึกโดยจะอยู่แบบไม่แบ่งตัว เมื่อร่างกายอ่อนแอ ไวรัสที่แฝงอยู่จะก่อให้เกิดอาการไข้และปวดรุนแรงตามแนวยาวของปมประสาท โดยจะพบเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสเป็นแนวด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แต่จะไม่พันรอบตัว อย่างที่หลายคนเชื่อกัน มักจะมีอาการปวดแปล๊บบนบริเวณปลายประสาทร่วมด้วย
  • โรคเริม เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม HERPES (Hsv–1/Hsv-2) เริมจะมีลักษณะเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำขนาดเล็ก มีขอบแดง แต่ไม่เรียงตามแนวเส้นประสาท พบได้บ่อยที่บริเวณริมฝีปาก อวัยวะเพศ และก้น การติดเชื้อครั้งแรก มักจะมีไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงมีอาการอักเสบ ผู้ที่เคยเป็นโรคเริมแล้ว จะมีโอกาสเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมได้บ่อย โดยมีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดซ้ำ คือภาวะเครียด ภูมิต้านทานร่างกายต่ำลง พักผ่อนไม่เพียงพอ ใกล้มีประจำเดือน หรือถูกแสงแดดจัด เริมสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผล และการมีเพศสัมพันธ์
  • โรคหัด มักเป็นในเด็กอายุ 1 ปี จนถึงระดับประถมศึกษา โดยมักมีอาการไข้สูง ไอมาก ตาแดง คล้ายเป็นหวัด ต่อมามีผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ขึ้นทั่วตัว แขน และขา โรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ การป้องกันโรคหัด คือต้องรักษาสุขภาพให้ดีในฤดูหนาว อากาศเย็นควรใส่เสื้อผ้าหลายชั้น แต่วิธีป้องกันที่ดีที่สุดและเด็กทุกคนควรทำ คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด
  • โรคหัดเยอรมัน ผู้ป่วยมักมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้น จะมีผื่นขึ้นที่หน้า คอ ลำตัว แขนและขา ผื่นมักขึ้นเต็มตัวภายในระยะเวลา 1 วัน และมีต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นมักจะหายไปเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่ติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นในเด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันตามเกณฑ์เพื่อป้องกันการเกิดโรค ที่สำคัญคือถ้าสตรีเป็นขณะตั้งครรภ์จะทำให้ทารกพิการได้

นอกจากโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสแล้ว โรคผิวหนังอักเสบที่อาจจะกำเริบช่วงหน้าหนาว ได้แก่

  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีโอกาสเกิดมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันผิวหนังรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะเกา ซึ่งการเกาอาจจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อตามมา ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักจะมีลักษณะผื่นเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก มักเป็นที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ
  • โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheic dermatitis) มีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ดเป็นมัน ขอบเขตชัดเจน ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู และหนังศีรษะ เนื่องจากอากาศในฤดูหนาวทำให้ผิวแห้ง จึงทำให้ผื่นชนิดนี้มีโอกาสเกิดได้มากขึ้น

ถึงแม้ว่าโรคบางชนิดจะเป็นโรคทางอายุกรรม ซึ่งบางโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ทั้ง 7 โรคจะมีความเกี่ยวข้องกับผิวหนังทั้งสิ้น ดังนั้นทุกคนควรพึงระวังใส่ใจกับตัวเองสักนิด อากาศช่วงฤดูหนาวมักมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยอยู่เสมอ จึงควรทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมาก ๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อมีการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงวันหยุดยาว ๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ต้องระวังสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด   ขอบคุณข้อมูลจากสมาคมแพทย์ผิวหนัง