เตือนหน้าท่องเที่ยวระวัง “แมลงก้นกระดก”


สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในพื้นที่หลาย ๆ จังหวัดที่เคยถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ให้ระวังพิษภัยจากแมลงก้นกระดกเป็นพิเศษ แนะวิธีการป้องกันง่าย ๆ เมื่อโดนแมลงหรือเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือใช้แอมโมเนียทาบริเวณที่โดนแมลงจะลดอาการแสบร้อนได้ รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน ต้นฤดูหนาวในแต่ละปี แมลงก้นกระดก หรือที่เรียกว่า “ด้วงก้นกระดก” จะพบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตามพื้นที่ป่าเขา ตามบ้านเรือนทั่วไป โดยเฉพาะในปี 2559 น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ รบกวนพื้นที่อาศัยของแมลงก้นกระดกที่อยู่ตามต้นไม้ ตามป่า ตามรังดิน จนต้องหนีมาอาศัยในบ้านเรือนของคน ดังนั้นพื้นที่ในโซนภาคใต้จึงมีการระบาดของแมลงก้นกระดก ในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง เป็นต้น สำหรับผู้ที่โดนพิษแมลงก้นกระดก เมื่อโดนแล้วจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน และมีผื่นแดงตามผิวหนัง ผื่นที่เกิดจากแมลงชนิดนี้ ไม่ได้เกิดจากการที่มันกัดหรือต่อย แต่เกิดจากการที่ไปโดนแล้วบี้ทำให้สารเคมีในตัวแมลงชื่อ paederin ออกมาทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสไหม้ เป็นรอยแปลก ๆ ตามที่มือไปสัมผัส อาจเป็นเส้นเป็นทางทำให้คิดว่าเป็นงูสวัดหรือเริม บางครั้งพบลักษณะเฉพาะของโรคนี้ คือ kissing lesion คือ ถ้าเป็นที่ข้อพับจะเกิดผื่นที่เหมือนกันในด้านตรงข้าม ส่วนใหญ่มักโดนเวลากลางคืน ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงขอฝากเตือนประชาชนทั่วไปว่าให้ระมัดระวังจากแมลงชนิดนี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว อาจจะพบแมลงชนิดนี้อยู่ภายในที่พักตามรีสอร์ท บ้านพักอุทยาน สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่นิยมเที่ยวป่าเขา หรือพักตามรีสอร์ท กางเต๊นท์นอน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดกชนิดนี้ไม่ได้เป็นโรคใหม่ มีการพบในประเทศไทยหลายสิบปีแล้ว แต่ก่อนนี้มักพบบ่อยตามชานเมืองที่มีหนองน้ำ แต่ปัจจุบันพบบ่อยขึ้นทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯและในทุกฤดูกาล