กฎหมายที่ผู้ประกอบการ “เต็นท์รถมือสอง” ควรรู้!!


ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา SMEs ทำธุรกิจ ซื้อ-ขาย รถยนต์มือสอง เป็นจำนวนมาก เนื่องจาก ณ เวลานั้น ผู้บริโภคนิยมใช้รถยนต์มือสองมากกว่ารถยนต์มือหนึ่ง เพราะมีหลายปัจจัยเอื้ออำนวย อาทิเช่น ราคาถูกกว่ารถยนต์มือหนึ่ง ,ระบบสินเชื่อรถยนต์ส่วนบุคคลของธนาคารอนุมัติง่าย, เมื่อใช้ได้สักระยะ นำไปขายต่อก็ขาดทุนไม่มาก เป็นต้น แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนไม่ทันก็ต่างพากันปิดกิจการ หรือบางรายจากเปลี่ยนสถานะตนเองจากเจ้าของธุรกิจเป็นมิจฉาชีพไม่ว่าจะเป็น การนำรถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงมาซ่อม ตกแต่ง แล้วในไปขายในเต็นท์รถ โดยส่งผลกระทบ คือ เมื่อลูกค้าซื้อรถยนต์ไปใช้งานได้สักระยะ รถยนต์เกิดปัญหา เจ้าของเต็นท์รถยนต์ไม่รับผิดชอบ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อมั่น และไม่กล้าซื้อรถยนต์จากเต็นท์มือสอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ประกอบการธุรกิจซื้อ-ขาย รถยนต์มือสอง ต่างพากันนำเสนอกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย เพื่อที่จะปิดปมด้อยของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเต็นท์รถมือสอง

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คุณแอน วรรณประทีป หุ้นส่วนบริษัท แอดลอว์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด และที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจ ได้แนะนำเจ้าของเต็นท์รถมือสองว่า ความจริงแล้วกฎหมายก็เป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ โดยมี 2 องค์ประกอบสำคัญที่ผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองควรนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ได้แก่

1.ผู้ประกอบการควรศึกษาประเภทของกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายเกี่ยวกับหลักฐานการรับเงิน กฎหมายรถยนต์ส่วนบุคคล กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเต็นท์รถยนต์มือสอง มีกรณีต่างๆซึ่งเป็นปัญหาเกิดขึ้นมากมาย โดยต้องใช้บทกฎหมายเป็นตัวตัดสิน ยกอย่างเช่น ธุรกิจรถยนต์มือสองต้องปฏิบัติตามกฎหมายธุรกิจควบคุมโดยเฉพาะหลักฐานทางการเงิน ที่หากไม่ทำตามมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และยังต้องปฏิบัติตามการจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องด้วย โดยในกรณีที่ไม่ทำตามจะมีโทษคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท

2.การเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเกิดความเท่าเทียมในข้อกำหนดที่ต่างฝ่ายต่างยินยอม ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ควรละเลยเนื้อหาสำคัญซึ่งได้แก่

– รายละเอียดเกี่ยวกับรถและสภาพรถ หากเป็นรถมือสอง ต้องมีหน่วยบอกระยะทางที่ได้ใช้ไปแล้ว

– รายละเอียดเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ที่ระบุว่าเมื่อผู้เช่าจ่ายเงินครบตามสัญญาแล้ว

– รายละเอียดเกี่ยวกับการขายเกินมูลค่าหนี้ที่เหลืออยู่ โดยระบุว่า หากผู้ให้เช่าขายรถ ได้เงินมากกว่าหนี้ที่ค้างชำระ ผู้ให้เช่าจะต้องคืนเงินส่วนเกินให้กับผู้เช่า แต่ถ้าหากขายแล้วได้ราคาน้อยกว่าหนี้ค้างชำระ ผู้ให้เช่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

นอกเหนือจากกฎหมายและการเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่ผู้บริโภค เพื่อเป็นการสร้างฐานลูกค้าให้แข็งแรง รวมถึงสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจของผู้ประกอบการในระยะยาว