3 เคล็ดลับพิชิต Grand power ในธุรกิจครอบครัว


รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า Grand power ในธุรกิจครอบครัว คือ บุคคลที่มีอำนาจพิเศษเหนือกว่าทุกตำแหน่งในองค์กรหรือเรียกง่ายๆว่า “ผู้ก่อตั้งองค์กร” แม้ว่าจะมีหรือไม่มีรายชื่ออยู่ในบอร์ดผู้บริหารก็ตาม แต่ถือว่ามีอิทธิพลสูงสุดในองค์กร

Grand power เกิดขึ้นได้กับธุรกิจทุกขนาด ทุกประเภท ซึ่งมิได้หมายความว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะทักษะการปกครองธุรกิจที่บางคนใช้เหตุผลในการตัดสินใจ บางคนใช้อารมณ์ส่วนตัวเป็นหลัก Grand power กับอารมณ์มาคู่กัน ดังนั้นทัศนคติจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น Grand power ใช้อารมณ์ส่วนตัวเป็นเครื่องมือตัดสินใจโดยที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในองค์กร เมื่อเกิดความผิดพลาดองค์กรก็ล้มเหลวทันที

สำหรับองค์กรที่มี Grand power ในยุคนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า Grand power ในองค์กรคุณวางตัวเป็นกลางหรือไม่ ? โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันร่วมบริหารธุรกิจ ดังนั้น ผู้บริหารธุรกิจที่ดีควรวางแผนตั้งระเบียบและข้อบังคับที่ทุกคนในองค์กรควรใช้ร่วมกัน เพื่อเป็นตัวข้อบังคับต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่ง 3 เคล็ดลับต่อไปนี้สามารถนำไปปรับใช้สู่การวางแผนธุรกิจเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในองค์กรได้แก่

1. ใช้ความรัก ความเข้าใจ หลอมรวม Grand power และทุกคนในองค์กรอย่างเท่าเทียม มีเป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจน คนทุกคนที่อยู่ในองค์กรต้องรู้เป้าหมายขององค์กรตนเองว่าทำอะไรเพื่ออะไร โปร่งใส ไม่มีวาระซ้อนเร้น

2. เน้นมูลค่าในการทำงานของแต่ละตำแหน่ง และดำเนินการตามนโยบายอย่างแน่วแน่ที่สำคัญคือการแบ่งงานที่ชัดเจน ก็จะบรรลุผลของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. สร้างองค์กรให้เกิดวัฒนธรรม เรื่องนี้ต้องพึ่ง Grand power ในยุคเริ่มก่อตั้งธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่ก็ตาม อยากให้องค์กรเป็นอย่างไร ต้องสร้างวัฒนธรรมตั้งแต่ตอนนั้น ยกตัวอย่างเช่น ทุกสิ้นปีพนักงานในบริษัทต้องอบรมร่วมกัน เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน อันก่อให้เกิดการประสานงานที่ดีได้ในอนาคต

เพราะฉะนั้นองค์กรที่ดีควรปฏิบัติตามนโยบายเป็นหลัก แม้จะมี Grand power ก็ตาม เพื่อสร้างความความเข้มแข็งให้กับองค์กรได้อย่างตลอดรอดฝั่ง