ช่วงนี้ดูเหมือนว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะพากันให้ความสนใจแนวนโยบายด้านการบริหารประเทศของรัฐบาล
“ทรัมป์” เป็นพิเศษ นั่นเพราะแนวนโยบายเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน เพราะในช่วงหาเสียง
“ทรัมป์” พยายามชูนโยบายเศรษฐกิจโดยเน้นการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ การรักษาผลประโยชน์ของประเทศ รวมถึงการรักษาการจ้างงานไว้สาหรับชาวอเมริกันเป็นหลัก (Protectionism) จนนักวิเคราะห์บางคนวิตกกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุน กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งนี้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของรัฐบาลชุดใหม่ที่สำคัญและควรให้ความสนใจสามารถสรุปได้ ดังนี้
- ลดภาษีธุรกิจ (Business Tax) จากเดิมอัตราร้อยละ 35 ลงเหลือร้อยละ 15 และภาษีการโอนเงินทุนบริษัทสัญชาติอเมริกันในต่างประเทศกลับสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10
- ปรับฐานการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Individual Income Tax) โดยลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดลงจากเดิมร้อยละ 39.6 เป็นร้อยละ 33
- การทบทวนข้อตกลงทางการค้าโดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาวอเมริกันเป็นหลัก ได้แก่
– ถอนการเข้าร่วมกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership หรือ TPP)
– ทบทวนข้อตกลงเขตตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement หรือ NAFTA) ส่วนที่สหรัฐฯ เสียผลประโยชน์
- การส่งเสริมการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ (Infrastructure) เพื่อกระตุ้นการจ้างงานภายในประเทศ
- การเพิ่มระดับเพดานภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนและเม็กซิโก
- ลดเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เก่าหรือล้าหลังทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และการจ้างงานภายในประเทศ
- ลดการให้เงินอุดหนุนประเทศต่าง ๆ และหันมาลงทุนในกิจการการลงทุนภายในประเทศรวมถึงการทหารมากขึ้น
- นโยบายด้านพลังงานและการสนับสนุนการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจน้ำมันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานและความมั่งคั่งภายในประเทศ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯหลัง “ทรัมป์” ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีดังนี้
- ในภาพรวมแนวนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล “ทรัมป์” เป็นไปเพื่อเพิ่มการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) คาดว่าแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในปี 2560 และร้อยละ 2.5 ในปี 2561
- ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคประชาชนของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าจะเห็นภาพความเชื่อมั่นในตัดสินใจขยายหรือเพิ่มการลงทุนในภาคธุรกิจที่ชัดเจนภายในปีนี้ ส่วนภาคประชาชนน่าจะเริ่มเห็นภาพความเชื่อมั่นที่ชัดเจนภายในช่วงต้นปี2561
- ผู้บริโภคชาวอเมริกันเริ่มกล้าจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้ารวมถึงกล้าที่จะตัดสินใจเปลี่ยนงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Price Index) เดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557
- นโยบายลดภาษีเพื่อกระตุ้นการนำเงินทุนกลับประเทศ (Repatriate Capital) จะทำให้ธุรกิจสัญชาติอเมริกันที่มีออฟฟิศในต่างประเทศตัดสินใจย้ายเงินทุนกลับสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการลงทุนภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีเงินสะสมนอกประเทศ (Offshore Money) ในประมาณการที่สูง เช่น Apple, Chevron, GE, Google, IBM, Johnson & Johnson, Microsoft, Pfizer และ Western Digital ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปในอนาคต
- ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้เงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรปที่ปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐฯ มากขึ้น ส่งผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากขึ้น “ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยในการส่งออก เนื่องจากมีราคาถูกลงในสายตาผู้นำเข้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องอาศัยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการจ่ายชำระค่าวัตถุดิบในการผลิต เพราะอาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น”
- นโยบายการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าพุ่งเป้าไปเพื่อตอบโต้การค้าระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและเม็กซิโกเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าสูงสุดจากจีน (ร้อยละ21.12) และเม็กซิโก (ร้อยละ 13.50) ซึ่งการนำเข้าสินค้าจากทั้งสองประเทศในปริมาณมากส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม“คาดว่านโยบายดังกล่าวจะส่งทั้งผลดีและผลเสียต่อการส่งออกสินค้าของไทย” กล่าวคือ ผลดี : เป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้ากับจีนในกลุ่มสินค้าที่ไทยแข่งขันส่งออกกับจีน เช่น ของเล่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ ผลเสีย: เป็นอุปสรรคสำหรับสินค้าวัตถุดิบการผลิตไทยที่ส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ เช่นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาล “ทรัมป์” กระตุ้นให้คงการดำเนินกิจการเพื่อเกิดการจ้างงานในประเทศ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ โดยรัฐบาล “ทรัมป์” ได้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกดดันให้บริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่น Carrier Ford GM คงฐานการผลิตไว้ในประเทศ โดยล่าสุดบริษัท GM ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในสหรัฐฯ ประกาศแผนการลงทุนขยายโรงงานผลิตรถยนต์ในรัฐมิชิแกนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างงานให้ชาวอเมริกันได้ราว 1,500 ตำแหน่ง
- “ทรัมป์” ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ถอนสหรัฐฯออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership หรือTPP) อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการทำงานในฐานะประธานาธิบดี โดยการถอนตัวดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในแง่ของการแข่งขันเพื่อทำตลาดสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรไฟฟ้าของไทยในสหรัฐฯ เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มความตกลงดังกล่าวทำให้เสียเปรียบมาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญที่เป็นสมาชิกกลุ่มความตกลงดังกล่าว ส่วนเวียดนามซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งรายสำคัญอีกรายในภูมิภาคก็ได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- ประเทศในกลุ่มแคริบเบียนส่วนใหญ่มีรายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้นแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ที่เน้นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศมากจนเกินไปอาจจะก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวลดการเดินทางไปยังแคริบเบียนซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ และอาจจะกระทบต่อรายได้ของประเทศในกลุ่มแคริบเบียนซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในภูมิภาคได้
- โดยรวมแล้วสินค้าไทยที่ยังคงมีศักยภาพในการทำตลาดในสหรัฐฯ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลแช่แข็ง ผักและผลไม้กระป๋อง และอาหารสำเร็จรูป อาหารเกษตรอินทรีย์ ตัวเรือนเครื่องประดับ ส่วนสินค้าในกลุ่มที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ได้แก่ สินแร่ พลังงาน เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ของตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย
- การแข่งขันทางการค้าโดยเน้นราคาเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบคู่แข่ง เนื่องจากปัจจัยค่าแรงงานของไทยสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น จีน เวียดนาม และกัมพูชา ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาปรับตัวไปสู่การทาตลาดสินค้านวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตเพื่อสร้างความแตกต่างในตัวสินค้าซึ่งจะทาให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้ในระยะยาว
- กลุ่มธุรกิจสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านการเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของสหรัฐฯ ควรพิจารณาแสวงหาช่องทางตลาดศักยภาพใหม่ในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย เพื่อชดเชยส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ที่อาจจะสูญเสียไป
- กลุ่มธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในการขยายฐานการผลิต อาจจะพิจารณาการตั้งกิจการผลิตเพื่อจำหน่ายสินค้าในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี โดยกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการจัดตั้งธุรกิจทำตลาดในเขตสหรัฐฯ ตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์หลายรายตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ได้แก่ BMW, GM, Hyundai, Honda, Kia และ Mercedes Benz และเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจียถือเป็นจุดที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการจัดตั้งธุรกิจในเขตสหรัฐฯ ตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์อยู่กึ่งกลางพื้นที่ อีกทั้ง ยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศที่สมบูรณ์เหมาะสำหรับการขนส่งและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน
- แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผันผวนและมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยที่ต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ต้องใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการชำระค่าสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะทำให้สามารถบริหารต้นทุนการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ