บริหารธุรกิจ “แบบยืดหยุ่น” ทางรอดของ SMEs


การทำธุรกิจในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเริ่มหันมาบริหารธุรกิจแบบยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องมาจากไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทายและมักเปลี่ยนงานอยู่บ่อยๆ นอกจากปัญหาการเปลี่ยนงานที่ผู้ประกอบการต้องเจอแล้วยังมีอีกหลากหลายปัญหาในการบริหารจัดการธุรกิจ เนื่องด้วยปัจจัยในเรื่องของอายุ เพศ นิสัย การศึกษา รวมไปถึงทัศนคติของแต่ละบุคคลล้วนแตกต่างกันออกไปซึ่งมีผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร หาคำตอบได้กับ คุณธรรมศักดิ์ อรชุนวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์

ถ้าพูดถึงในมุมของผู้ประกอบการแล้ว เวลาเช้าถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการยืดหยุ่นการทำงาน เพราะเวลาเช้าเป็นเวลาที่สมองมีการทำงานอย่างเต็มที่จึงเหมาะที่จะเป็นเวลาวางแผนงาน นอกจากนี้ทางด้านการตลาดแล้วการสร้างความยืดหยุ่นให้กับผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของราคาที่อาจมีการปรับตามคู่แข่งตามพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งราคาอาจจะแปรผันตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขันของธุรกิจ ซึ่งถ้าธุรกิจของคุณมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการเองต้องมีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นค่อนข้างมาก อาจจะต้องเช็คราคาเดือนละครั้ง หรือบางธุรกิจที่มีการแข่งขันไม่สูงเท่าไหร่อาจเช็คราคาคู่แข่งปีละครั้งเพื่อนำมาวางแผนการตั้งราคาสินค้าของเรา

แน่นอนว่าการบริหารงานแบบยืดหยุ่นนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีของการบริหารงานแบบนี้คือ พนักงานจะมีอิสระในการทำงาน รวมไปถึงสามารถทำงานให้ออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียของการบริหารงานแบบยืดหยุ่นคือ พนักงานอาจละเลยกฎระเบียบของบริษัท อาจจะเป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับคนอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้งานที่ทำไม่เดิน

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้บริหารควรแบ่งกลุ่มให้ชัดเจนถึงความต้องการของพนักงานที่เหมือนกัน แยกเป็นสัดส่วน จากนั้นมองถึงสวัสดิการที่จะให้กับคนแต่ละกลุ่ม แล้วมองถึงว่าธุรกิจที่ทำสามารถยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหน อาทิเช่น ยืดหยุ่นในเรื่องของราคา ยืดหยุ่นในเรื่องของการบริการ ยืดหยุ่นด้านการบริหาร และต้องเตรียมการรองรับความเสี่ยงในการยืดหยุ่น ควรปรับให้มีความสมดุลระหว่างลูกค้าและตัวธุรกิจของคุณให้มากที่สุดเท่านั้นเอง