“ความแตกต่าง” ภาษีธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ กับ อพาร์ทเม้นท์เช่ารายเดือน


อาจารย์พรรณี วรวุฒิจงสถิต กรรมการภาษีอากรหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

ธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ในประเทศไทยบางแห่งผิดกฎหมาย เพราะตั้งแต่เริ่มก่อสร้างตัวอาคารเจ้าของธุรกิจก็ไม่ทราบประเภทของกิจการว่าเป็นธุรกิจประเภท หอพัก แฟลต อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม ซี่งแต่ละประเภทที่ได้กล่าวมา มีข้อบังคับของกฎหมายที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หอพักมีลักษณะคล้ายอพาร์ทเมนท์ แต่ก็มีความแตกต่างกันตรงที่พักอาศัยประเภทหอพัก ลักษณะอาคารนั้นจะมีขนาดที่เล็กกว่า มีราคาที่ต่ำกว่า และส่วนมากจะบริหารจัดการในรูปของเจ้าของคนเดียวที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งอพาร์ทเมนท์จะเป็นในรูปของนิติบุคคล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเจ้าของธุรกิจประเภท หอพัก แฟลต อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม จำเป็นต้องศึกษาข้อบังคับของกฎหมายอย่างละเอียดโดยเฉพาะเรื่อง “ภาษี” หากกล่าวถึงภาษีธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ค่อนข้างมีความแตกต่างจากประเภทธุรกิจที่ได้กล่าวมา เพราะธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ มี 2 แบบ ได้แก่

1. เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ มีลักษณะตัวอาคารและการให้บริการคล้ายโรงแรม รวมถึงมีรายรับ 1,800,000 บาท ต่อปีขึ้นไป แน่นอนว่าเจ้าของธุรกิจที่ทำเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เช่นเดียวกันกับธุรกิจโรงแรม กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ตั้งของเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ หากต่างจังหวัดให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรจังหวัด

2. อพาร์ทเม้นท์เช่ารายเดือน ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)

กรณีที่เจ้าของธุรกิจกำลังลังเลว่าจะจดทะเบียนธุรกิจอพารท์เม้นท์เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ขึ้นอยู่กับ “การเสียภาษี” แล้วเจ้าของกิจการต้องนำมาพิจารณาว่าเสียภาษีรูปแบบใดคุ้มค่ากว่ากัน