ผู้เสียภาษีมีเฮ สร้าง “E-Gov” เรื่องภาษีให้ง่ายขึ้น


ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด  ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ (EGA) เปิดเผยในรายการตอบโจทย์SME ว่า

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ (EGA) มีบทบาทคือช่วยหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องของการจัดทำระบบ จัดทำฐานข้อมูล เพราะการทำธุรกรรมกับภาครัฐ ประชาชนนั้นไม่สามารถรู้บทบาทของภาครัฐทุกหน่วยงานได้ EGA จึงเป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงทุกหน่วยงานของภาครัฐไว้ด้วยกัน หรือ ONE STOP SERVICE ผ่านเว็บไซต์เดียวหรือเว็บไซต์กลาง และแต่ละหน่วยงานต้องนำข้อมูลของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเว็บไซต์กลางหลังบ้านเพื่อเอื้ออำนวยกับประชาชนต่อไป ส่วนกรณีที่ประชาชนไม่มีอินเตอร์ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ส่วนนี้ทาง EGA จะนำตู้คีออสที่จะเช็คข้อมูลทะเบียนบ้าน สวัสดิการประกันสังคม เช็คเครดิตบูโรข้างต้น ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ด ทั้งนี้ ยังมีการทำงานร่วมมือบูรณาการกับกระทรวงมหาดไทยในการเชื่อมข้อมูลทะเบียนราษฎ์และติดตั้งเครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดกระจายไปทั่วประเทศจำนวน 2 แสนเครื่อง เพื่อต้องการลดจำนวนของการถ่ายสำเนาบัตรต่างๆของประชาชนเพื่อทำธุรกรรมกับภาครัฐ ส่วนประเด็นที่ประชาชนไม่ทราบว่าการทำธุรกรรมกับภาครัฐนั้นจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างหรือต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการทำธุรกรรม จึงได้จัดทำ www.govchannel.go.th ที่รวบรวมข้อมูลสำคัญของภาครัฐทุกส่วนไว้บนเว็บไซต์นี้ มีข้อมูลประชาชน โดยจะมีหลายช่องทางที่จะให้เข้าถึงบริการแต่ละหน่วยงานภาครัฐ 800 กว่าบริการ หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อเชื่อมต่อกับภาครัฐได้ผ่านสมาร์ทโฟน ที่มีให้เลือกดาวน์โหลดกว่า 200 กว่าแอปพลิเคชัน

ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 โดยแผนนี้จะพัฒนาระบบงานภายในภาครัฐเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการอำนวยบริการแก่ภาคธุรกิจและประชาชน และการยื่นภาษีจะสะดวกมากยิ่งขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อกับสถานประกอบการและสถาบันการเงิน ในการใส่ข้อมูลรายได้ของบุคคลธรรมดาในระบบและเชื่อมโยงกับภาครัฐทันที โดยบุคคลธรรมดาจะทำหน้าที่แค่เพียงตรวจทานถึงจำนวนรายได้ก่อนการยื่นภาษีทุกปีรวมถึงหลักฐานระหว่างปีหารหักภาษีก็จะสามารถใส่ข้อมูลในระบบได้ทันทีโดยไม่ต้องเก็บหลักฐานและเพื่อเป็นการป้องกันการหายของหลักฐาน การให้บริการพร้อมเพย์ ซึ่งพร้อมเพย์จะเกี่ยวเนื่องในเรื่องของการคมนาขนส่งในการชำระค่าบริการรถสาธารณะในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการพัฒนาบุคคลากรภาครัฐ ด้วยการอบรมให้ความรู้โดยเฉพาะหน่วยงานที่เทคโนโลยีสามารถทำแทนได้ อาทิ ฝ่ายบัญชี ภาครัฐก็จะนำบุคลากรส่วนนี้ไปอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนพัฒนาหน่วยงานนั้นๆ เป็นต้น โดยจะทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

นอกจากนี้ในอนาคต สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือการยื่นเอกสารอิเล็คทรอนิกส์ หากประชาชนหรือผู้ประกอบการยื่นเอกสารครบตามกระบวนการ คอมพิวเตอร์อาจจะเป็นผู้อนุมัติแทนก็เป็นได้ โดยเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมา EGA จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี ตามแผนที่วางไว้ โดยภาครัฐทุกหน่วยงานและประชาชนต้องปรับตัวไปพร้อมกันเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยได้อย่างแท้จริง