เอกสารทางบัญชีและภาษีเก็บไว้ให้ดี…สิทธิ์ 5 ปี สรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง


อาจารย์พรรณี วรวุฒิจงสถิต กรรมการภาษีอากรหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ที่พึงต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศชาติที่มีความรับผิดชอบคนหนึ่ง นอกจากบุคคลธรรมดาทั่วไปมีหน้าที่ต้องไปเสียภาษีแล้ว องค์กรทางธุรกิจหรือนิติบุคคลก็มีหน้าที่ดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่หากไม่ชำระภาษีตามเวลาที่กำหนดถือว่ามีความผิดทันที กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนั้น นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีได้ เงินเพิ่มเสียร้อยละ 0.75 และกรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียกและปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามกรณีที่ 1 แล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามหากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ผิดกฎหมายภาษี สรรพากรสามารถมีสิทธิตรวจสอบย้อนหลังได้อายุความประเมินภาษี 2 ประเภทดังนี้

1.กฎหมายภาษี กำหนดให้ผู้เสียภาษีต้องเก็บเอกสารทางบัญชีและภาษีไม่น้อยกว่า 5 ปี ภายใต้เงื่อนไขต้องยื่นแบบภาษีทุกปี

ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เสียภาษีจะยื่นแบบภาษีถูกหรือผิดก็ตาม โดยปกติเจ้าพนักงานมีสิทธิตรวจสอบย้อนหลังได้ไม่เกิน 2 ปี ไม่นับปีปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปัจจุบันเป็นปี 2560 ก็ย้อนหลังได้คือปี 2559-2558 เป็นต้น แต่ถ้าตรวจสอบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจริง เจ้าพนักงานสรรพากรมีอำนาจขยายประเมินระยะเวลาได้ถึง 5 ปี ดังนั้นผู้เสียภาษีจึงควรเก็บเอกสารให้เกิน 5 ปี แต่ถ้าไม่เคยยื่นแบบเสียภาษีเลย สรรพากรสามารถประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี

2.กฎหมายบัญชี กำหนดให้เก็บเอกสารทางบัญชีไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี

จะสังเกตได้ว่าการหลีกเลี่ยงภาษีหรือมีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าผู้เสียภาษีทำผิดกฎหมายภาษี การตรวจสอบย้อนหลังใช้เวลายาวนาน สามารถพิสูจน์ความผิดของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลได้ตั้งมากมาย ดังนั้น ทุกคนเมื่อมีรายรับ ควรแสดงความจำนงยื่นเสียภาษีเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ