DITP เผยแนวคิดใหม่ผู้บริโภคชาวจีน ผู้หญิงมีกำลังซทื้อสินค้าเพื่อสุขภาพ


นางมาลี  โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ปัจจุบันแนวคิดในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนแปลงไป แนวคิดประหยัดค่าใช้จ่ายลดน้อยลง ผู้บริโภคจำนวนมากยินดีใช้จ่ายเพื่อสินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่ดี สะดวกสบาย นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลัก ทำให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม รวมถึงสินค้าเครื่องสำอาง และบริการเสริมความงามขยายตัวตามไปด้วย

“ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสวยงาม ทำให้อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น น้ำอัดลมซึ่งถือเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อ สุขภาพมียอดจำหน่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง สินค้าอาหารที่มีการจำหน่ายลดลงมาก คือ อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจำพวกอาหารทอดน้ำมันและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในขณะที่เครื่องดื่มนมอินทรีย์ นมนำเข้าคุณภาพสูงและโยเกิร์ตกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากกว่านมธรรมดา น้ำดื่มธรรมชาติ/น้ำแร่บรรจุขวด และเครื่องดื่มที่ทำจากถั่วและธัญพืชมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง ในปี 2559 รายได้ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ทำจากถั่วและธัญพืชมีมูลค่า 121,720 ล้านหยวน คาดว่าในปี 2563 จะมีมูลค่าสูงถึง 258,300 ล้านหยวน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.2 ของธุรกิจเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ 100% (Not-from-concentrate : NFC) เครื่องดื่มรสชาติจืด และเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณบำรุงสุขภาพจะได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกัน” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

ในปี 2558 เครื่องดื่มที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในตลาดจีน ได้แก่ น้ำมะพร้าวซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึงเกือบร้อยละ 30 รองลงมาคือเครื่องดื่มที่ทำจากถั่วเหลือง/น้ำเต้าหู้ ขยายตัวประมาณร้อยละ 6 และเครื่องดื่มอัลมอนด์ขยายตัวร้อยละ 4

สินค้าอาหารแปรรูปของไทยมีความหลากหลายและมีรสชาติแตกต่างจากของจีน เช่น ผลไม้อบแห้ง อาหารเพื่อสุขภาพสำเร็จรูป ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้นวัตกรรมในผลิต จึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในธุรกิจเหล่านี้ โดยนอกจากผลไม้สดผลไม้อบแห้งแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถแปรรูปเป็นน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ได้ด้วย สินค้าที่มีแนวโน้มดีได้แก่ น้ำมะพร้าว และน้ำมะม่วง เป็นต้น

“การที่ผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินค้ามากขึ้น และกล้าจับจ่ายใช้สอย ทำให้สินค้านำเข้าที่มีคุณภาพมีโอกาสเข้ามาจำหน่ายในตลาดจีนมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มควรมีการศึกษาตลาด สำรวจความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคจีนยุคใหม่ที่มีแนวคิดในการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวในตอนท้าย

อนึ่ง ปี 2559 ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปจีน มูลค่า 517.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 8.19 และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม – กุมภาพันธ์) ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปจีนมูลค่า 95.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 58.68 ในส่วนของน้ำผลไม้ ไทยส่งออกน้ำผลไม้ไปจีนในปี 2559 มูลค่า 21.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 33.46 และใน 2 เดือนแรกของปี 2560 ไทยส่งออกน้ำผลไม้ไปจีนมูลค่า 3.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 58.40