รัฐบาลออก 3 มาตรการช่วยเหลือ SMEs คนตัวเล็ก/ รายย่อย


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐกลุ่มเอสเอ็มอี (D2) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมรับฟังและหารือร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน และที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ครอบคลุมไปยังกลุ่ม SMEs คนตัวเล็ก/รายย่อย ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)     สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ไปรษณีย์ไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) เป็นต้น

“ผลการหารือครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยร่วมจะออก 3 มาตรการความช่วยเหลือ SMEs คนตัวเล็ก/ รายย่อย ได้แก่ (1) มาตรการสินเชื่อ SMEs คนตัวเล็ก/ รายย่อย (2) Local Economy การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (ขยาย CIV ร่วมกับประชารัฐ) และ (3) ตลาดต้องชมรวมพล SMEs โดยทั้ง 3 มาตรการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือ SMEs คนตัวเล็ก/ รายย่อย ได้ถึง 26,000 ราย โดยจะมีแพคเกจช่วยเหลือถึงระดับชุมชนทั้งด้านการตลาดและการผลิต นอกเหนือจากการให้เงินทุน ผ่านการเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากหลายๆ หน่วยงาน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สสว. และ SME Development Bank”

สำหรับมาตรการด้านเงินทุน แบ่งเป็น Finance Packages ดังนี้ (1) สินเชื่อ SMEs คนตัวเล็ก วงเงินไม่เกินรายละ 2 แสนบาท จำนวน 10,000 ราย โดยใช้กองทุนฟื้นฟูกิจการของ สสว. วงเงิน 2 พันล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 0% ผ่อนปรนหลักประกัน ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี ระยะเวลากู้ 10 ปี (2) สินเชื่อ SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 6 แสนบาท จำนวน 5,000 ราย โดยใช้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 3พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ผ่อนปรนหลักประกัน ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี ระยะเวลากู้ 7 ปี (3) สินเชื่อ SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท จำนวน 6,000 ราย โดยใช้กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ผ่อนปรนหลักประกัน ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี ระยะเวลากู้ 7 ปี และ (4) สินเชื่อ SMEs รายย่อย วงเงินมากกว่า 10 ล้านบาท จำนวน 5,000 ราย โดยใช้สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3 % บสย.ค้ำประกัน ปลอดเงินต้น 1 ปี ระยะเวลากู้ 7 ปี

มาตรการที่ 2 Local Economy – การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (ขยาย CIV ร่วมกับประชารัฐ) ดำเนินการประสานการคัดเลือกพื้นที่การสนับสนุนเงินทุนและการสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนต่างๆ โดยคณะกรรมการพัฒนาเอสเอ็มอีจังหวัด และ CIV จะดำเนินแผนร่วมกันเพื่อสนับสนุนแผนงาน/ โครงการในรูปของคณะกรรมการประชารัฐจังหวัด ทั้งนี้ จะมีกระทรวงกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดแผนงาน/ โครงการที่จะสนับสนุน SMEs คนตัวเล็ก/ รายย่อย ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเศรษฐกิจ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา สำรวจพื้นที่เพื่อนำเสนอแม่แบบธุรกิจ (business model) ต่อไป ทั้งนี้ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านภายใต้โครงการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านแห่งความสมดุลย์ที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าและบริการ โดยมีชุมชนนำร่องที่ครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย อาทิ ชุมชนออนใต้ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ชุมชนเกาะเกร็ด  ต.เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ชุมชนปากน้ำประแส ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ชุมชนบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ชุมชนบ้านนาตีน ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ฯลฯ

มาตรการที่ 3 ตลาดต้องชมรวมพล SMEs โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบหลักในมาตรการตลาดต้องชมรวมพล SMEs มีโซน SMEs ตลาดต้องชมทั่วประเทศที่กำหนดไว้แล้ว 500 แห่ง ซึ่งเป็นทั้งตลาดนัด/ ถนนคนเดิน/ mobile market ทั้งในด้านการขยายตลาดเดิม นอกจากนี้ยังดำเนินการสนับสนุนด้านการเงินในการอุดหนุนส่งเสริมตลาด เน้นการฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการมือใหม่ ตลอดจนการทำประชาสัมพันธ์ตลาด ซึ่งประชารัฐรักสามัคคีเป็นผู้บริหารตลาด ส่วนการจัดหา SMEs เข้าตลาดนั้นมีหน่วยร่วมต่างๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม ประชารัฐรักสามัคคี สสว. และ SME Development Bank ร่วมผลักดันผู้ประกอบการ SMEs และ Startup (franchise, food truck/bike, รถเร่ขายสินค้า (รถพุ่มพวง), ร้านโชห่วย, รถบริการ logistics, ร้านอาหารหนูนิดชวนชิม) ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าในราคาประหยัดถูกหลักอนามัย พร้อมกันนี้มีการพัฒนาต่อยอดร้านค้าให้มีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในร้านเพื่อให้บริการแก่ประชาชนด้วย

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการที่จะออกมาใหม่ทั้ง 3 มาตรการเพื่อช่วยเหลือ SMEs คนตัวเล็ก/ รายย่อยในครั้งนี้ สอดคล้องกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล ที่ผู้ลงทะเบียนจะได้รับการช่วยเหลือสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมกับการช่วยเหลือติดอาวุธความรู้ให้กับประชาชน SMEs คนตัวเล็ก/ รายย่อย อย่างใกล้ชิด ถัดจากนี้ออกมาเป็นแพคเกจความช่วยเหลือต่อไป โดยเป็นการทำงานร่วมกันในนามสานพลังประชารัฐกลุ่มเอสเอ็มอี (D2) ที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการในลักษณะพี่ช่วยน้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น