สสว. จับมือ สถาบันอาหาร และมทร.ธัญบุรี จัดสรรงบ 60 ล้านบาท ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพร มุ่งยกระดับส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และนำเทคโนโลยีเพิ่มอายุการเก็บรักษา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ คาดผู้ประกอบการได้รับประโยชน์เกิน 4,000 ราย
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ร่วมมือกับ สถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอี ปี 2560 ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพรตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโครงการคลัสเตอร์ในครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจมะพร้าวที่จะเน้นคือ การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว และเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่มนี้ตลาดมีอัตราการเติบโตสูง ในขณะที่ผลผลิตมะพร้าวออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น สสว. และสถาบันอาหารร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งรวมถึงภาคเอกชน จะสนับสนุนให้มีการเพิ่มผลผลิต ด้วยการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก และพันธุ์มะพร้าวคุณภาพ ได้กำหนดพื้นที่ในพื้นที่อีสาน เช่น อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มมูลค่าในเรื่องของการบ่งบอกต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ (Geographic Indication:GI) เช่น ในพื้นที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี และในส่วนกระบวนการผลิตจะเน้นในเรื่องยืดอายุ (Shelf Life) การลดกลิ่นของมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอางเป็นสำคัญ
ในส่วนคลัสเตอร์สมุนไพร เน้นเรื่องการนำสมุนไพรมาผลิตเป็นอาหารเสริม และเครื่องสำอาง ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงเช่นกัน ในขณะที่สมุนไพรที่ได้ยังไม่เป็นออแกนิกส์ ทาง มทร. ธัญบุรีจะร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารเสริมสมุนไพรไทยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น สกลนคร พังงา นครศรีธรรมราช สระบุรี และจันทบุรี ในส่วนของกระบวนการผลิตต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการลดความชื้นของสมุนไพร การรับรองมาตรฐานการผลิตโดยจดทะเบียน อย. และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ๆให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ เช่น แผ่นมาส์กบำรุงหน้า สเปรย์น้ำแร่ฉีดหน้าจากสมุนไพร เป็นต้น
ทั้งนี้ สสว. ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว รวม 25 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 3,300 ราย และกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร รวม 5 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 700 ราย รวมเป็นผู้ประกอบการ จำนวน 4,000 ราย
ด้าน นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของสถาบันอาหาร ได้รับมอบหมาย ดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่ายSME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 เดือน (พ.ค. – ก.ย. 2560) ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ทางสถาบันอาหารจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดอบรม อาทิ จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลักสูตรมาตรฐานการผลิต หลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หลักสูตรการพัฒนาคลัสเตอร์ เพื่อให้จัดทำแผนการพัฒนา กลุ่มคลัสเตอร์ ทั้งระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (3 ปี) และระยะยาว (5 ปี) หลักสูตรการตลาดและการสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์สำหรับผู้นำเครือข่ายมะพร้าวไทยรวมถึงการทำเวิร์คชอป
นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมผ่านช่องทางการตลาดออฟไลน์ ได้แก่ การนำสินค้าที่ได้รับการคัดเลือกไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศหรือจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในประเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ โดยการทำ E-market Place ให้แต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ทั้งหมด 25 กลุ่ม ผ่านทาง Lazada/Tarad/Truemart เป็นต้น เป็นระยะเวลา 1 ปี และจัดให้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยจัดทำเว็บไซต์ของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ โดยจัดทำเป็น Coconut Pavilion เพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย