ทำธุรกิจร่วมก๊วนอย่างไร? “ไม่เจ๊ง” “ไม่เสียเพื่อน”


คุณจักรกฤติ สายสมบูรณ์ และคุณรณกาจ ชินสำราญ ผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO ได้เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ SME ว่า ทั้งคุณจักรกฤติ และคุณรณกาจ เป็นเพื่อนกันสมัยที่เริ่มทำงานที่เอไทม์มีเดีย แต่ทำไปได้สักปีกว่าจนถึงจุดอิ่มตัว จึงหันมาทำธุรกิจส่วนตัวของตนเอง ต่างคนต่างทำมาเรื่อยๆจน เมื่อ 3 ปีที่แล้วอาหารญี่ปุ่นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นและราคาเริ่มไม่สูง จึงได้ชวนกันมาทำธุรกิจร้านซูชิ แต่ใช้ระยะเวลาในการศึกษาธุรกิจประเภทนี้พักใหญ่ และต่างคนต่างหาความรู้จากในห้องเรียน

สำหรับร้านซูชิที่ทำนั้น ได้มีเพื่อนร่วมบริหารด้วยกันรวมแล้วจำนวน 4 คน ซึ่งกว่าจะมีความชัดเจนถึงความถนัดของแต่ละคนระยะหนึ่ง ซึ่งต้องแยกแยะระหว่างความชอบกับความถนัดที่ทำแล้วออกมาดีกว่าความชอบ โดยการทำงานกับเพื่อนสนิทนั้น ต้องมีการถกเถียงกันเป็นธรรมดา แต่การทำธุรกิจต้องมีเป้าหมายเดียวกันหรือมีธงในการทำในละด้าน เช่น การสร้าง

แบรนด์ที่มีแกนแบบนี้ และทุกคนต้องเดินตามแกนที่วางไว้ หรือจะเป็นแกนด้านอื่นๆ เช่น เงินเดือนพนักงาน บัญชี การตลาด เป็นต้น และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องทะเลาะกันหรือไม่เข้าใจหรือเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องชี้แนวทางว่า หากทำแบบนี้จะได้แบบนี้ และไม่ทำแบบนี้เพื่ออะไร หรือชี้เหตุและผลให้ชัดเจน และต้องแยกแยะอารมณ์ส่วนตัวให้ออกจากการทำงาน รวมถึงเมื่อทะเลาะกันและคืนดีกันแล้วต้องจบ ณ เวลานั้น ทั้งนี้ หากการทำงานร่วมกับเพื่อนแล้วมีความชัดเจนตั้งแต่เริ่มธุรกิจ แนะนำว่าต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความชัดเจนนั้นๆเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปเลย

กลยุทธ์การทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทซูชินั้น ต้องเข้าใจตลาดให้ลึกและละเอียด เข้าใจสถานการณ์และคู่แข่ง รวมถึงผู้บริโภค แต่ที่สำคัญคือการตลาดและการสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะด้านออนไลน์ ซึ่งการสร้างแบรนด์คือการสร้างบุคลิกให้คนจดจำ ซึ่งSME อาจจะเข้าใจว่าจะต้องใช้งบมาก แต่แท้จริงแล้วแทบไม่ต้องใช้งบประมาณเลยเพียงแค่มีบุคลิกที่ชัดเจนก็เพียงพอ ซึ่งการสร้างแบรนด์ในยุคนี้ต้องจริงใจ ต้องมอบคุณค่าที่คุ้มค่าแก่ผู้บริโภคเนื่องจากผู้บริโภคสมัยนี้เริ่มมีข้อมูลหรือฉลาดมากยิ่งขึ้น เมื่อสร้างแบรนด์แล้วมาเชื่อมกับการตลาดออนไลน์ด้วยความสม่ำเสมอ ชัดเจน เพื่อสร้างความเป็นมิตรแก่ผู้บริโภค รวมถึง คนจะไม่ตามคนที่เหมือนๆคนอื่นๆ แต่จะเลือกติดตามคนที่แตกต่างจากคนอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรคิดกลับไปว่าเมื่อเราเป็นลูกค้าเราต้องการอะไร ทั้งประสบการณ์ที่ดีที่ไม่ต้องเป็นของที่จับต้องได้ ซึ่ง MAGURO ให้คำจำกัดความว่า “ให้มากกว่าที่ขอ”

ส่วนเรื่องคอนเทนท์นั้น ทั้งคู่ได้ให้คำแนะนำว่า ให้เขียนข้อมูลที่เป็นประโยชน์แบบรู้ไว้ไม่เสียหลายและไม่ใช่เชิงขายแก่ผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคชอบความรู้เพื่อให้ตนเองฉลาด ซึ่งคอนเท้นต์ที่ได้รับความนิยมบนเพจเฟซบุ๊กของ MAGURO จะเป็นคอนเท้นต์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่สร้างอารมณ์และความรู้สึกดีๆ การสร้างแรงบันดาลใจ ปรัชญาการดำรงชีวิต หรือเทคนิควิธีการทานอาหารญี่ปุ่นอย่างถูกวิธี เป็นต้น ส่วนรูปภาพอาหารนั้นต้องถ่ายให้สวยที่สุดเนื่องจากอาหารนั้นคนที่ชมจะไม่ได้สัมผัสเต็มทั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5 แต่ตาจะเห็นนั่นเอง และต้องใช้คำพูดที่บรรยายแบบเป็นกันเองหรือใช้คำพูดง่ายๆ ส่วนความยาวของเนื้อหาก็จะดูตามความเหมาะสม แต่ส่วนมากคนไทยไม่นิยมอ่านเรื่องราวที่มีความยาว นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการเลือกเมนูอาหารให้เป็นจุดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น เช่น ร้านเจ๊โอวที่มีเมนูหลากหลาย แต่ชูเมนูเด่นเพื่อให้สังคมรู้จัก โดยชูเมนูมาม่าเป็นจุดเด่น เป็นต้น

ทั้งนี้ การดึงเมนูอาหารนั้น ต้องโดนใจลูกค้าในวงกว้าง หรือสังเกตได้จากที่ลูกค้าสั่งประจำก็เป็นได้ แต่อย่าคิดไปเองว่าอร่อยหรือมักจะตอบลูกค้าเสมอว่าอร่อยทุกอย่าง ส่วนเรื่องโลเคชั่นนั้นจะเป็นปัจจัยหลักสำหรับร้านอาหารที่เมนูอาหารไม่มีความโดดเด่น แต่หากร้านอาหารใดที่รสชาติอร่อยมักจะถูกบอกต่อ แบบปากต่อปาก แค่อาจจะขยันทำการตลาดออนไลน์เพิ่มเติมเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมถึงยังได้แนะนำว่า การทำร้านอาหารในยุคนี้อยากให้โฟกัสไปหากลุ่มเป้าหมายหลักก่อน เช่น กลุ่มเป้าหมายคือพนักงานออฟฟิศที่ไม่ค่อยมีเวลา ก็ไปเปิดย่านที่มีออฟฟิศจำนวนมาก หรือย่านมหาวิทยาลัยที่เน้นกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น