SME Development Bank ติดปีกอาวุธ SMEs ไทย บุกตลาด CLMV


ในวันนี้ (22 มิ.ย. 2560) นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวถึงการขานรับนโยบายรัฐบาลเร่งส่งเสริมองค์ความรู้ควบคู่แหล่งเงินทุน  เดินหน้าจัดกิจกรรมยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้ก้าวไกลสู่ประเทศกลุ่ม CLMV  ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก  โดยจัดงานสัมมนาใหญ่เป็นครั้งที่ 2       ในหัวข้อ “เปิดขุมทรัพย์จับตลาด กัมพูชา – เวียดนาม” เพื่อเปิดเผยเคล็ดไม่ลับกลยุทธ์การเข้าถึงฐานตลาดผู้บริโภคประเทศกัมพูชา-เวียดนาม  จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรง  ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งขัน     ลดปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน  ขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้  และเชื่อว่าหากมีการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV จริง  จะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อและดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างแน่นอน   เนื่องจากล้วนแต่เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง   โดยร่วมกับ สมาคมมิตรภาพไทย – กัมพูชา และได้รับเกียติจาก ท่านนายกสมาคมพล.อ.วิชิต  ยาทิพย์ มาร่วมงานด้วย “การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs นับเป็นภารกิจของธนาคารที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการเติมเต็มองค์ความรู้จากประสบการณ์จริง  จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการตื่นตัวพัฒนาตัวเอง  จนมีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงให้เกิดการค้าขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV  ที่ขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก  และเป็นความโชคดีที่สินค้าหลักๆ ของประเทศไทยยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคของประเทศเพื่อนบ้าน  ดังนั้น การแต่งตัวสินค้าอย่างไรให้ได้มาตรฐานโดนใจคนซื้อมากขึ้น  การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะละเลยไม่ได้  หากธุรกิจต้องการสายป่านที่ยืนยาวและมั่นคง ธนาคารพร้อมเป็นไม้ค้ำยันที่จะสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ควบคู่แหล่งเงินทุน  โดยมุ่งหวังผลักดันสร้างโอกาสทางธุรกิจกระจายสู่ผู้ประกอบการทุกพื้นที่  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนให้เกิดการต่อยอด สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้”

ซึ่งภายในงาน ธนาคารได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญรู้ลึกตลาดประเทศกัมพูชา-เวียดนาม นำโดย คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด(มหาชน) มาบรรยายประสบการณ์จริง ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว การค้าการขายอย่างไรให้โดนใจผู้บริโภค กลยุทธ์เด็ดชิงส่วนแบ่งจากเจ้าตลาดเดิม  คุณราเกส ซิงห์ เลขาธิการสภาธุรกิจไทย – เวียดนาม และคุณวรทัศน์ ตันติมงคลสุข เลขาธิการสภาธุรกิจไทย – กัมพูชา  ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) มาร่วมเสวนาให้ความรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความได้เปรียบ  สำหรับธุรกิจที่ต้องการขยับขยายการลงทุนสู่ประเทศกัมพูชา-เวียดนาม  และผู้ประกอบการที่มาร่วมงานสามารถนำสินค้ามาแสดงโชว์และจับคู่ธุรกิจกันได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารได้เปิดบูธให้บริการรับคำปรึกษาแนะนำด้านแหล่งเงินทุน กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี  ตลอดอายุสัญญา  ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ใน 3 ปีแรก   ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน  3 ล้านบาทต่อราย  โดยธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคการเกษตร, แปรรูปอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น โดยแต่ละจังหวัดจะกำหนดธุรกิจกลุ่มยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

สินเชื่อ SMEs Transformation Loan  วงเงิน 15,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% คงที่ 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนี้ กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง, เป็นผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรม, มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 เช่น SMEs กลุ่มธุรกิจ S-Curve หรือ SMEs ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น

โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงินกองทุน 2,000 ล้านบาท จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล  ในรูปแบบการให้เงินทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการ  รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้คืนสูงสุดไม่เกิน 3 ปี  ไม่มีดอกเบี้ย  ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการฟื้นฟู  ได้แก่ ธุรกิจเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่ยังคงดำเนินกิจการหรือพร้อมจะฟื้นฟูกิจการได้  ธุรกิจที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว  หรือยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอเนื่องจากเงินหมุนเวียนธุรกิจขาดสภาพคล่อง เป็นต้น

ส่วนอีกหนึ่งโครงการดีๆ คือ โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท  เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคล ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ หรือขาดเงินทุนหมุนเวียน  สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้คืน 5-7 ปี ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้หลักประกัน  โดยผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท  คณะบุคคลที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท  และนิติบุคคลที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท  ซึ่งกิจการจะต้องมีแผนฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้เจ้าหนี้ ลดปัญหาการล้มละลาย การเลิกจ้างงาน และช่วยผยุงภาพรวมเศรษฐกิจ SMEs ไว้

*ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ท่านสามารถแสดงความประสงค์   ยื่นคำขอกู้ได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด  ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs (SME Support & Rescue Center) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ธพว.     *สินเชื่อ SMEs Transformation Loan หรือสินเชื่ออื่นๆ ของธนาคาร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357  หรือ ธพว.ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามกิจกรรมดีๆ ผ่านช่องทาง  facebook.com/SMEDevelopmentBank  *โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  โทร. 0-2278-8800

———————————————————————————————————————————————

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : นางอุบลรัตน์ ค่าแพง  ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม โทร. 085-9807861, 02-265-4571-3