(SME ไทย) ทำไมต้องรอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้?


จากการที่ได้เข้าไปให้คำปรึกษาองค์กรต่างๆ ได้พบปัญหาหลายเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้บางครั้งไม่ใช่ผู้บริหารไม่รู้ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน แต่ปล่อยให้ปัญหาก่อตัวขึ้นมาจนวันหนึ่ง ยากต่อการเยียวยา หรือแก้ไขได้แต่ต้องลงทุนลงแรงเยอะพอสมควร

ตัวอย่างปัญหา

  • โครงสร้างเงินเดือนพนักงานที่ผิดเพี้ยน
    คนตำแหน่งต่ำทำงานสูง คนยศสูงทำงานต่ำทำให้เงินเดือนไม่สมศักดิ์ศรี ไม่สอดคล้องกับค่างาน ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นเกินความจำเป็น ตำแหน่งสำคัญแข่งขันกับตลาดไม่ได้
  • เดทสต๊อก (DeadStock)
    มิน่าเงินสดหายไปไหนหมด ก็มาจมอยู่กับสินค้าคงคลัง ที่สำคัญมาจมอยู่นานกับสินค้าที่หมดอายุ ใช้งานไม่ได้ ขายไม่ออก สินค้าเดทสต๊อกค่อยๆเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี ทั้งๆที่มีตัวเลข มีคนรู้ แต่ไม่ค่อยมีคนมาแก้ไขจริงจัง ทำให้บางธุรกิจเกือบพังเพราะเงินสดหมด ดอกเบี้ยมากกว่ากำไร
  • สร้างทายาทสืบทอดตำแหน่งต่อเมื่อตัวเองเกษียณ ป่วย ไม่ไหว
    เรื่องการหาคนมาทดแทนตำแหน่งสำคัญๆในองค์กร จะเรียกว่า “ทายาทสืบทอดตำแหน่ง” หรือเรียกอะไรก็ได้ ปัญหาอยู่ที่ทำไมเพิ่งมาหาคนนอก สร้างคนในเอาตอนที่ตัวเองใกล้เกษียณ เริ่มเจ็บป่วยบริหารไม่ไหวแล้ว ธุรกิจเติบโตจนทำเองไม่ไหวแล้ว ผลที่ตามมาคือสร้างคนในไม่ทัน หาคนนอกก็ไว้ใจไม่ได้
  • เสียดายธุรกิจที่พ่อแม่สร้างมาทั้งๆที่ขาดทุกมาตลอดแต่ไม่ทำอะไร
    บางองค์กรมีธุรกิจหลายอย่าง บางธุรกิจขาดทุนมาตลอดทำให้ธุรกิจที่มีกำไรต้องมาแบกธุรกิจที่ขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ผลประกอบการรวมแย่ แต่ก็ยังไม่มีใครทำอะไร เพราะธุรกิจที่ขาดทุนนั้นเป็นธุรกิจที่คนรุ่นพ่อแม่ทำมา แต่ในปัจจุบันและอนาคตธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจขาลง ไม่กล้าขายทิ้ง ไม่กล้าเลิกเพราะรู้สึกเกรงใจวิญญาณพ่อแม่ที่เสียไปแล้วหรือพ่อแม่ที่ยังอยู่
  • จะออกสินค้าใหม่คิดมากคิดมายจนคนอื่นขายกันหมดแล้ว
    เนื่องจากบางองค์กรไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสินค้าใหม่ ธุรกิจใหม่ที่ชัดเจน เจ้าของเป็นคนคิดเองทำเองคนเดียว เคยไปเจอว่ารายการสินค้าใหม่ที่เจ้าของคิดไว้ดีมากๆ แต่ไม่กล้าวางตลาดเพราะกลัวโน่นนี่ นั่น เช่น กลัวล้มเหลวเหมือนสินค้าใหม่ตัวหนึ่งในอดีต คิดว่ายังไม่ถึงเวลารอให้ตลาดตอบรับมากกว่านี้ ฯลฯ สุดท้ายถ่วงเวลามาจนถึงวันหนึ่งที่จำเป็นต้องออกสินค้าใหม่ ตอนนี้ตลาดกลายเป็นตลาดโคตรหินไปซะแล้ว หรือไม่ก็ต้นทุนสูงมากหรือมีสินค้าทดแทนไปเรียบร้อยแล้ว
  • เครื่องจักรเก่าแก่ ทนใช้จนย่ำแย่
    บางองค์กรประหยัดทุกอย่างเพื่อให้กำไรวันนี้ยังโอเค แต่ลืมไปว่าการลงทุนทุกอย่างย่อมมีวันเสื่อมสภาพ เช่น เครื่องจักร บางองค์กรไม่เคยสำรองเงิน ไม่เคยหาเงินมาลงทุนซื้อเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ เพราะคิดว่ายังไงก็ซ่อมได้ ปรับได้ ใช้ได้อีกนาน พอวันหนึ่งเทคโนโลยีเปลี่ยน เครื่องจักรเดิมเก่าใช้ต่อไปไม่คุ้ม ก็เริ่มเจอปัญหาเรื่องการลงทุน การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรถึงขั้นธุรกิจหยุดชะงักได้เหมือนกัน เสียเวลามาตั้งหลักใหม่แทนที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องตามที่ควรจะเป็น
    และอีกสารพัดปัญหาที่รู้ล่วงหน้า แต่ไม่ยอมแก้ไข ปล่อยให้ปัญหาสะสมหมักหมมจนยากต่อการแก้ไข บางองค์กรก็มีข้ออ้างสารพัดเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้

แก้ไขด้วยการกำหนดวาระแห่งปีในการประเมินองค์กรด้วยตัวเอง

องค์กรควรจะจัดทำหัวข้อการประเมินสุขภาพองค์กรด้วยตัวเองว่าทุกๆสิ้นปีองค์กรเราควรจะประเมินตัวเองเรื่องอะไรบ้าง เช่น

  • ทบทวนโมเดลการดำเนินธุรกิจ
  • ทบทวนระบบการออกสินค้าใหม่
  • ทบทวนเรื่องเครื่องจักร
  • ประเมินระบบเงินทุนหมุนเวียน
  • ประเมินการบริหารสินค้าคงคลัง
  • ประเมินระบบ Supply Chain
  • วิเคราะห์การตลาด
  • ประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของระบบการบริหารบุคลากร
  • ฯลฯ

ประเมินว่าที่ผ่านมาหนึ่งปีมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และลองพยากรณ์ดูว่าอีก 3-5 ปีในแต่ละเรื่องจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร มีโอกาสเกิดปัญหา(ความเสี่ยง)อะไรบ้าง

  1. ว่าจ้างที่ปรึกษามาประเมินองค์กร
    ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ผ่านการทำงานให้องค์กรต่างๆมาเยอะ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมาประเมินสุขภาพองค์กรให้เรา เพราะเขามีรายการประเมิน(Checklist)ครบทุกด้าน เขามีประสบการณ์ในการตั้งคำถาม วิเคราะห์ข้อมูล เคยเห็นสาเหตุและผลของปัญหาต่างๆมาเยอะ ทำให้องค์กรได้เห็นปัญหาได้เร็วกว่า ดีกว่าการประเมินตัวเอง ที่สำคัญคือที่ปรึกษาไม่มีอารมณ์ค้าง อารมณ์ร่วมกับองค์กรของเรา เขาแต่ข้อมูลและเหตุผลมากกว่า เขาไม่สนใจว่าธุรกิจนี้ผูกพันกับความรู้สึกใคร พูดกันด้วยเหตุผลข้อมูลอย่างเดียว
  2. จัดทำแผนรองรับ
    เมื่อทราบปัญหา สาเหตุ และผลที่อาจจะเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นแล้ว องค์กรควรจะวางแผนพัฒนาองค์กรโดยอาจจะเลือกเรื่องที่จำเป็นสำคัญเร่งด่วนขึ้นมาก่อนในแต่ละปี อาจจะต้องทำแผนพัฒนาองค์กร 3-5 ปี หากวางแผนดีๆบางครั้งพอทำเรื่องที่ 1,2 แล้วอาจจะทำให้สามารถป้องกันปัญหาของเรื่องที่ 3,4,5 ได้เลยก็ได้ เพราะระบบต่างๆในองค์กรมักจะมีผลกระทบซึ่งกันและกันเสมอ เช่น ทำเรื่องโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะช่วยให้การทำเรื่องทายาทสืบทอดตำแหน่งได้ง่ายขึ้น ทำเรื่อง Supply Chain แล้วจะช่วยให้ระบบการผลิต ขาย ส่งมอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    ลองนำเอาข้อคิดนี้ไปทบทวนองค์กรของท่านดูนะครับว่าตอนนี้เจอปัญหาที่ไม่ควรเจอบ้างหรือยัง อาจจะเจอปัญหาเหล่านี้ไหมในอนาคต

จากประสบการณ์ที่เป็นที่ปรึกษามารู้สึกเสียดายที่หลายองค์กรเอากำไรในอดีตมานั่งแก้ปัญหาในปัจจุบันและอนาคต เสียดายที่แทนที่องค์กรจะเติบโตไปดีกว่านี้ เร็วกว่านี้ แต่ต้องมาเสียเวลาหยุดแก้ปัญหาเรื้อรังที่ไม่น่าเกิดขึ้น

ขอขอบคุณ : ณรงค์วิทย์ แสนทอง

Strategic Performace Consultant NS Values Co.,Ltd.