กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเภทมาเร็วไปเร็ว กรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานแบบเดิมที่จะพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในปี 2561 โดย อ้างเหตุผลเพราะไม่เพียงพอต่อการค่าครองชีพในแต่ละวัน พร้อมต้องการให้นิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวอีก 2 คน ซึ่งควรอยู่ที่วันละ 600-700 บาท
ทันทีที่ประเด็นดังกล่าวถูกปล่อยออกมา ตัวแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชนต่างประสานเสียงในทันควัน พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน เช่นกรณีของนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า หากปรับขึ้นค่าแรงเป็น 700 บาทต่อวันผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร เพราะมีลูกจ้างจำนวนมาก ขณะที่โรงงานขนาดกลางและใหญ่จะไม่กระทบมากนัก เพราะปรับตัวด้วยการหันไปใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2556 ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันแล้ว พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยหากจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นอัตราเดียวเหมือนในอดีต เพราะสภาพเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเติบโตแตกต่างกัน และการปรับขึ้นควรขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากคณะกรรมการไตรภาคี
ต่อกรณีดังกล่าว แน่นอนว่าถ้าตัวเลขที่ 600-700 บาท ต่อวัน จะยังไงก็คงเป็นไปไม่ได้แน่ หรือเป็นได้ก็คงแค่เพียงความฝัน เพราะถ้าพิจารณาจากผลตอบแทนอัตราเงินเดือนของแรงงานที่จบระดับปริญญาตรี ซึ่งอยู่ที่ 15,000 บาท ตัวเลขที่ร้องขอคงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว เพราะในความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแล้ว
โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 6) ที่ลงนามโดย มล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการค่าจ้าง ว่าด้วยเรื่อง คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559ให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือรวม 12 สาขาอาชีพ โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79(4) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มีการระบุไว้น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะในข้อ 3 อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสาขาอาชีพและในแต่ละระดับ ให้เป็นดังนี้
(1) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเขียนแบบเครื่องกล ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 460 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท
(2) สาขาอาชีพช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 600 บาท
(3) สาขาอาชีพช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 450 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 540 บาท
(4) สาขาอาชีพช่างเทคนิคระบบไฮโดรลิก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 460 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท
(5) สาขาอาชีพช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 485 บาท
(6) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 385 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 470 บาท
(7) สาขาอาชีพช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 385 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 470บาท
(8) สาขาอาชีพพนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 370 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท
(9) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 450 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 540 บาท
(10) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 430 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 515 บาท
(11) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัทอีดีเอ็ม ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 430 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 515 บาท
(12) สาขาอาชีพช่างขัดเงาแม่พิมพ์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 380 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท
ถึงบรรทัดนี้คงเห็นคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่า หากพิจารณาจากข้อเรียกร้องที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้ร้องขอ นั่นหมายความว่าแรงงานหรือลูกจ้างเหล่านั้นต้องเป็นช่างที่มีทักษะฝีมือตรงตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้สำหรับ 12 อาชีพเท่านั้น
เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วต้องยอมรับว่าประเทศไทยของเรากำลังประสบกับปัญหาในเรื่องของแรงงานในหลาย ๆด้าน ทั้งจากสังคมผู้สูงอายุก็ดี เรื่องของการขาดทักษะหรือฝีมือในการทำงานก็ดี สิ่งต่าง ๆเหล่านี้คือโจทย์หรือการบ้านข้อใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน ก่อนก้าวสู่ประเทศไทย 4.0