วิธีลดความเสี่ยงในการติด มัลแวร์ ของสมาร์ทดีไวซ์


จากรายงานเรื่องอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์หรือ IoT ของแคสเปอร์สกี้ แลป เผยว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2018 พบดีไวซ์ IoT ถูกโจมตีด้วย มัลแวร์ มากกว่า 120,000 แบบ นับเป็นจำนวนที่มากกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวนมัลแวร์ที่พบในปี 2017 ทั้งปี แคสเปอร์สกี้ แลป จึงแจ้งเตือนว่า การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตระกูลมัลแวร์สำหรับสมาร์ทดีไวซ์นี้ เป็นกระแสอันตรายอย่างมาก ในปี 2017 พบว่า จำนวนมัลแวร์โจมตีสมาร์ทดีไวซ์สูงมากกว่าปี 2016 ถึงสิบเท่า

ตลาดของดีไวซ์ IoT หรือ สมาร์ทดีไวซ์ และบทบาทความสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้ใช้นั้นมีอัตราการเติบโตสูง และอาชญากรไซเบอร์ก็ได้มองหาช่องทางสร้างร้ายได้เช่นกันด้วยการเพิ่มจำนวนและปรับปรุงการโจมตี อันตรายสำหรับผู้บริโภคที่รัก gadget ก็คือภัยคุกคามสามารถจู่โจมได้แบบไม่ทันตั้งตัว ทำการเปลี่ยนดีไวซ์ที่ดูไร้พิษภัยเป็นอุปกรณ์ทรงพลังสำหรับกิจกรรมผิดกฏหมาย ซึ่งรวมถึงการขุดเงินคริปโต การโจมตีแบบ DDoS และการทำบ็อตเน็ต ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ แลป วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากหลายแหล่งรวมถึงจากฮันนี่พ็อต (Honeypot) ดีไวซ์ตัวล่อหลอกที่ใช้ดึงความสนใจจากอาชญากรไซเบอร์เพื่อวิเคราะห์กิจกรรมต่างๆ

จากสถิติระบุว่า วิธีการที่นิยมมากในการแพร่กระจายมัลแวร์ IoT คิดเป็น 93% ยังคงเป็นการเดาพาสเวิร์ดเพื่อเข้าถึงดีไวซ์ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการเข้าถึงดีไวซ์ผ่านช่องโหว่ต่างๆ

ดีไวซ์ที่ถูกใช้โจมตีฮันนี่พ็อตมากที่สุดคือเราเตอร์ คิดเป็น 60% นอกจากนี้ดีไวซ์อื่นที่ถูกรุกล้ำยังเป็นดีไวซ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น อุปกรณ์ DVR และปริ้นเตอร์ ไม่เว้นแม้แต่เครื่องซักผ้า

อาชญากรไซเบอร์แต่ละคนก็มีเหตุผลในการโจมตี IoT แตกต่างกันไป แต่เป้าหมายยอดนิยมคือการสร้างบ็อตเน็ตสำหรับการโจมตี DDoS มัลแวร์บางตัวได้รับการออกแบบเพื่อกำจัดมัลแวร์ ซ่อมแซมช่องโหว่ และปิดการใช้งานช่องโหว่ด้วย

คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงการติด มัลแวร์
– อัพเดทเฟิร์มแวร์โดยเร็ว เมื่อพบช่องโหว่ ก็จะสามารถซ่อมแซมผ่านแพทช์ในการอัพเดทได้

– เปลี่ยนพาสเวิร์ดอยู่เสมอ ใช้พาสเวิร์ดที่ซับซ้อน ผสมผสานกันระหว่างตัวอักษรตัวพิมพ์เล็ก ตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวเลข และสัญลักษณ์

– พิจารณาเลือกใช้โซลูชั่นเพื่อตรวจหาช่องโหว่และการติดเชื้อในดีไวซ์ IoT

– รีบูทดีไวซ์ทันทีเมื่อคิดว่าดีไวซ์ทำงานผิดปกติ อาจจะช่วยกำจัดมัลแวร์ได้