การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันยุคสมัย เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องทำ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยตรง โอตาเคะ (OHTAKE) บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรทำเส้นราเมงในประเทศญี่ปุ่น จึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะทำการผลิตเส้นราเมงที่ถูกใจลูกค้ามากที่สุด
การที่นำเอาความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้งนี่เองที่ถือว่าเป็นการปรับทิศทางการทำธุรกิจแบบพลิกกลับ 180 องศา โดยเปลี่ยนจากเป้าหมายที่จะพัฒนาเครื่องจักรที่ดีที่สุด ไปเป็นการผลิตเส้นราเมงที่ดีที่สุดแทน โอตาเคะ ทำการปรับปรุงธุรกิจด้วยการนำเอาเรื่องของ Data Driven Manufacturing และ Internet of Things เข้ามาใช้
โอตาเคะ ได้ขยายสายการผลิตโดยนำเอา IoT มาช่วยปรับปรุงการบำรุงรักษาเครื่อง และเพิ่มคุณภาพของเส้นราเมง จากเดิมที่ใช้วิธีการขายเครื่องจักรแบบดั้งเดิม ก็เปลี่ยนไปเป็นการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์แทน เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานเครื่องจักรได้อย่างราบรื่น เต็มประสิทธิภาพ
จุดประสงค์ในการทรานส์ฟอร์มของ โอตาเคะ
โอตาเคะ มีจุดประสงค์หลัก 2 ประการ อย่างแรกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร นั่นคือ การเพิ่มเวลาที่เครื่องจักรสามารถทำงานได้ และลดเวลาที่เครื่องจักรเสีย เนื่องจากทุกวินาทีที่มีเครื่องจักรเสียนั่นหมายถึงรายได้ของลูกค้าหายไปด้วย ดังนั้นการที่จะช่วยให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างราบรื่น จำเป็นต้องทราบถึงปัญหาที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพื่อเตรียมวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ประการที่สอง คือการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์เส้นราเมง ซึ่งองค์ประกอบหลักของคุณภาพคือ น้ำหนักของเส้นราเมงที่ต้องคงที่ โอตาเคะได้เผชิญกับปัญหาน้ำหนักเส้นราเมงไม่คงที่เมื่อมีการตัดเส้นราเมงออกเป็นชิ้นๆ จึงตัดสินใจนำเทคโนโลยี IoT มาทำงานกับเครื่องจักรในการเก็บข้อมูล และทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรกับสภาพแวดล้อมต่างๆ อย่างเรื่องของอุณหภูมิ และความชื้น
กระบวนการผลิตเส้นราเมงเริ่มต้นเมื่อแป้ง ไข่ น้ำ และส่วนผสมอื่นๆ คลุกเคล้ากันเป็นก้อน หลังจากนั้นจึงหั่นให้แป้งเป็นเส้น ลวกในน้ำร้อน ทอด และบรรจุ เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรในกระบวนการเหล่านี้ จึงมีการติดตั้ง RFID ที่ใบมีด เพื่อระบุใบมีดที่มีการใช้มากที่สุด และประเมินความต้องการการบำรุงรักษาของแต่ละใบ
การหมุนเวียนและการสั่นสะเทือนของมอเตอร์ รวมถึงน้ำหนักของเส้นที่ผลิตได้ ล้วนถูกวัดและจัดเก็บข้อมูลไว้ และท้ายที่สุดจะวางเซนเซอร์ไว้ที่เครื่องฉายลำแสงและหม้อทอด เพื่อตรวจจับความชื้นและอุณหภูมิที่สัมพันธ์กับตัวเครื่อง หลังจากรวบรวมข้อมูลดิจิทัลทั้งหมดแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังเครื่อง PLC สำหรับเก็บข้อมูลแบบอะนาล็อก ก่อนที่จะถูกส่งไปประมวลผลต่อไป
การวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลที่รวบรวมทั้งหมดได้นำเข้าระบบวิเคราะห์ในรูปแบบของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) ก่อนจะนำเสนอผลลัพธ์ให้กับลูกค้า ตัวอย่างเช่น การจับข้อมูลทั้งหมดผ่าน RFID และข้อมูลเซนเซอร์ ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าใจข้อมูลของแต่ละมอเตอร์ได้ และทำนายความผิดพลาดของเครื่องจักรก่อนจะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ระบบจะทำนายเวลาที่เหมาะสมในการตรวจสอบเครื่องจักร และป้องกันปัญหาก่อนที่มันจะเกิดขึ้นอีกด้วย ผลวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทำให้พบว่าความชื้นและอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของเส้นราเมงที่สุด
จากนวัตกรรมของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นข้างต้น ทำให้ โอตาเคะ ได้พัฒนาการผลิตเครื่องทำเส้นราเมงอย่างก้าวกระโดด ด้วยการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและเชิงรุก การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริหารต้นทุนให้เกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจสูงสุด
นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทรานส์ฟอร์เมชั่นของการผลิตเส้นราเมง