Libra คืออะไร? มาทำไม? มาแทนใคร?


สรุปเนื้อหาจากงานเสวนา “Libra คืออะไร? มาทำไม? มาแทนใคร?” วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 จัดที่ Casean Center โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณทิพย์สุดา ถาวรามร ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานคณะกรรมการกำกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คุณศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ. ธนาคารกสิกรไทย ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม GMO-Zcom Cryptonomics ดำเนินรายการโดย คุณวิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการบริหาร Casean Center ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้

“Libra” ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการใช้สกุลเงินดิจิทัลกันมากขึ้น จากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามความคืบหน้าของ Libra อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินถึงผลกระทบและหาวิธีการกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไป ส่วนทางด้านเอกชนก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้มากถึงขนาดที่มีการทดลองทำการพัฒนา e-wallet ของ Libra ขึ้นมาเรียบร้อยแล้วหลายราย และทุกคนเห็นตรงกันว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่สองของสกุลเงินดิจิทัล

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เฟซบุ๊ก และพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง (founding members) ทั้ง 28 รายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทชั้นนำของโลก อย่างวีซ่า, มาสเตอร์การ์ด, เพย์พาล, อีเบย์ และอูเบอร์ ได้ร่วมกันเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “Libra” โดยบอกว่าจะมีการเริ่มนำมาใช้ในปี 2563 และมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นเงินดิจิทัลที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลก มีวิธีการเข้าถึงที่ง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ

Libra เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นสเตเบิลคอยน์ (stable coin) ซึ่งอ้างอิงตามมูลค่าสินทรัพย์หนุนหลัง ต่างจากสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ซึ่งมีความผันผวนมากกว่า และมักถูกนำไปใช้ในเรื่องของการเก็งกำไร

Libra จะถูกดูแลจากสมาคมที่ เฟซบุ๊กและพันธมิตรได้จัดตั้งขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีลักษณะเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อขับเคลื่อนและดูแลด้านต่างๆ ของ Libra เช่น ระบบบล็อกเชน และการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง

โดยก่อนการเปิดให้บริการ Libra อย่างแท้จริง เฟซบุ๊กตั้งใจจะหาพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งให้ได้ครบ 100 ราย แต่ละรายที่มาร่วมลงทุนรายละ 10 ล้านดอลลาร์ ด้วยการออกและเสนอขาย Libra Investment Token (อันนี้เป็น Invesment Token ไม่ใช่เหรียญ Libra ที่จะใช้ซื้อของหรือใช้ชำระเงิน) นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งบริษัทที่ให้บริการเรื่อง e-wallet ที่ชื่อ Calibra อีกด้วย

ด้านผลกระทบของ Libra เนื่องจากมีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก จึงน่าจะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างบุคคล ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถโอนเงินได้ทันทีเหมือนการส่งสติ๊กเกอร์ในไลน์แอปพลิเคชัน ขณะที่ภาคการเงินการธนาคารจะได้รับผลกระทบโดยตรง จึงต้องปรับตัวและหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับ เพราะอาจจะสูญเสียธุรกิจการโอนเงิน นอกจากนี้ อาจมีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาแข่งขันกับ Libra ของเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบา, กูเกิล และอเมซอน

ผลกระทบต่อภาครัฐ ภาครัฐอาจไม่สามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำไปกำหนดนโยบายด้านการเงินและการคลังได้ เนื่องจากการทำธุรกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ อาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่านผู้ประกอบการหรือตัวกลางที่ภาครัฐกำกับดูแลอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ภาครัฐไม่ควรปิดกั้นหรือหยุดยั้งนวัตกรรม แต่ควรต้องศึกษาและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเชิงระบบ รวมถึงทำการวางนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อประเทศ

ด้านบริบททางกฎหมายและการกำกับดูแล Libra เป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกซึ่งมีท่าทีที่ค่อนข้างระมัดระวัง แม้จะเปิดใจแต่ยังไม่เปิดรับโดยไร้การกำกับดูแล สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลโดยใช้กฎหมายในภาคการเงินที่มีอยู่อาจเป็นไปได้ยาก และต้องอาศัยการพิจารณาเพิ่มเติมว่า Libra เป็นเงินหรือไม่ ผู้ให้บริการหรือ authorized reseller เป็นใครได้บ้าง เข้าข่ายการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจสถาบันการเงิน การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน หรือการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และอาจมีความจำเป็นต้องแก้ไข หรือออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรองรับการกำกับดูแล

ในขณะที่ด้านภาษีมีความจำเป็นต้องมีกระบวนการคิดใหม่ หากจะกำกับดูแล ความท้าทายอยู่ที่การเก็บภาษีจากอีคอมเมิร์ซที่ย้ายไปขายสินค้าและบริการบนเฟซบุ๊ก โดยใช้ Libra เป็นสื่อกลางในการซื้อขายทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้กรมสรรพากรไม่ได้รับข้อมูลสำหรับการกำกับดูแล

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว และให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องดังกล่าว สำหรับประเทศไทยซึ่งมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับแล้วนั้น ก่อนที่ภาคธุรกิจจะสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการก่อน มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย

ความเสี่ยงและข้อควรระวังสำหรับประชาชน หากมีผู้ฉวยโอกาสแอบอ้างหรือชักชวนให้ไปลงทุนในโครงการลิบรามีความเป็นไปได้สูงมากว่าเป็นการหลอกลวง เนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง Libra Investment Token ได้ และ Libra ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลยังไม่เปิดให้บริการจริงในปัจจุบัน