รถคันต่อไปของคุณอาจจะเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า


ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันกำลังมุ่งความสนใจไป “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” (Electric Vehicle: EV) ในยุคที่ราคาน้ำมันแพง และมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงหันมาสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ผ่านมาตรการจูงใจด้านภาษี ตามที่กระทรวงการคลังได้ประกาศลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน (PHEVs)

นอกจากนี้การผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับผู้ผลิตท้องถิ่น ผ่านการร่วมทุนกับผู้ผลิตในต่างประเทศ มาตรการการสนับสนุนเหล่านี้ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีการเติบโตจาก 76% ในปี 2561 ถึง 83% ในปี 2562 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนี้ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง อีกทั้งตอกย้ำความมั่นใจว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวในไม่ช้า

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยรัฐบาลไทยมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นเวลากว่า 60 ปี อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของภาครัฐ ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 จะมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทสูงถึง 240,000 คัน หรือคิดเป็น 25% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 820,000 คันในปี 2566

ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องพร้อมปรับตัวรองรับกระบวนการผลิตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และมีการผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบการจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System, BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (Drive Control Unit, DCU) อินเวอร์เตอร์ (Inverter) คอนเวอร์เตอร์ (Converter) ฯลฯ

การเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ใกล้ความจริงขึ้นทุกวัน ด้วยเป้าหมายของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 และความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตของประเทศไทย ความท้าทายต่อไปคือการเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่มีต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ว่าไม่ใช่เรื่องแห่งอนาคตอีกต่อไป