“หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง” ตัวแรกของโลก แก้ Pain Point ความเสี่ยงแม่ค้าเสิร์ฟหมูไหม้


ไม่ว่าจะผ่านกี่ยุคกี่สมัย เมนูทานง่าย ทานได้ทั้งเล่นๆ และทานจริงจังอย่าง หมูปิ้ง ยังคงได้รับความนิยมเสมอมา ด้วยความลงตัวของหมูเนื้อนุ่มทานคู่กับข้าวเหนียวหนึบๆ ละมุนลิ้น รสชาติอันกลมกล่อม ช่างเข้ากันได้ดีจริงๆ เพราะเหตุนี้จึงกลายมาเป็นเมนูยอดฮิตที่ในประเทศไทยคุณหาทานง่าย มีขายในทุกตรอกซอกซอย โดยเฉพาะตอนเช้าที่นึกอะไรไม่ออก หมูปิ้ง คือพระเอกที่ถูกเลือกอยู่เสมอ 

 

 

ล่าสุด ได้เกิดแนวคิดการพัฒนา “หมูปิ้ง” ที่เป็นเมนูอาหารริมทาง หาซื้อง่าย แถมยังมีราคาที่สบายกระเป๋า แต่ติดปัญหาในเรื่องของความสะดวกสบาย ที่กลับกลายเป็นการส่งผลกระทบโดยตรงกับ “สิ่งแวดล้อม” อันเกิดจากควันปิ้งหมูที่คละคลุ้งทั่วบริเวณ รวมถึง “ผู้บริโภค” ที่ในบางกรณีหมูปิ้งอาจจะมีบางส่วนที่ไหม้เกรียมหรือสุกเกินพอดี ซึ่งเมื่อรับประทานในปริมาณมากและต่อเนื่อง ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว

 

 

 

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้คิดค้นและพัฒนา “หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง” หุ่นยนต์แขนกลที่ทำหน้าที่ปิ้งหมูแทนผู้ค้า เพื่อให้ผู้ค้าหมูปิ้งมีเวลาในการเตรียมการส่วนอื่นเพิ่มมากขึ้น และสามารถควบคุมเวลาหยิบหมูย่างขึ้นจากเตาได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการปิ้งจนมีบางส่วนที่ไหม้เกรียม อีกทั้งนวัตกรรมดังกล่าว ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับกลุ่มธุรกิจสตรีทฟู้ด ตลอดจนธุรกิจอาหารระดับอุตสาหกรรม 

 

 

โดยองค์ประกอบของนวัตกรรม ประกอบด้วย

(1) หุ่นยนต์แขนกล ที่มาพร้อมความสามารถในการหยิบจับ

(2) สายพานปิ้งหมู ที่สามารถหมุนได้อัตโนมัติ 360 องศา

และ (3) ระบบแก๊ส ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

 

 

ขั้นตอนการใช้งาน มีเพียง 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ 

(1) “หยิบหมูปิ้ง” ที่เสียบไม้เรียบร้อยแล้ว “วางหมูปิ้ง” ลงบนสายพานที่เตรียมไว้
(2) “หยิบหมูปิ้ง” ขึ้นจากสายพาน เมื่อถึงเวลาที่กำหนด
(3) “รูดหมูปิ้งออกจากไม้” เตรียมใส่จานแบบพร้อมเสิร์ฟ

 

 

ทั้งนี้ กระบวนการปิ้งหมูให้สุกทั่วทั้งไม้ จะใช้เวลาประมาณ 5-6 นาทีต่อไม้เท่านั้น ซึ่งในเบื้องต้นนวัตกรรมดังกล่าวยังต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการเตรียมวัตถุดิบให้พร้อมต่อการปิ้ง และจัดใส่จานพร้อมเสิร์ฟลูกค้า

 

 

ทั้งนี้ “หุ่นยนต์แขนกล” ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ในนามสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัทเอกชน และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ขณะที่ “หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง” ยังอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร

เจ้าของผลงาน : ทีมนักวิจัย/ผู้พัฒนา ดร. ภูมิ คงห้วยรอบ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)