เพราะการเป็น SME ทุกวันนี้ ไม่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างง่ายดาย การทำธุรกิจของคนตัวเล็กจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยหลายอย่างมาช่วยสนับสนุน ทำให้บางธุรกิจกว่าจะมั่นคงได้ ต้องผ่านวิกฤติช่วงเริ่มต้นนานนับปีถึง 2 ปี ดังนั้น โอกาส จึงเป็นสิ่งมีค่ามาก แล้วเราก็ไม่ควรนั่งรอโอกาส แต่ต้องวิ่งหาทุกโอกาสที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โอกาสสร้างความรู้ โอกาสการพัฒนาสินค้า โอกาสทางการเงิน โดยเฉพาะโอกาสทางการค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าเรามากที่สุด
คุณวีรวัฒน์ ปัณฑวังกร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า การจัดงาน K SME Matching Day ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการมอบโอกาสให้กับ SME ภายใต้แนวคิด ‘We Groom You Grow’ หรือ K SME ใส่ใจให้ธุรกิจโต เพราะถ้าผู้ประกอบการไม่กล้าปรับตัวไปข้างหน้า ถึงแม้ว่าธุรกิจจะยังดีอยู่ ก็อาจถดถอยได้ และการที่จะขยับไปเองก็ไม่ง่าย SME จึงควรศึกษาจากสิ่งที่คนอื่นเคยผ่านมาแล้ว หรือ Learning Curve
K SME Matching Day คือโอกาสให้ทุกฝ่ายพบกันง่ายขึ้น
สำหรับการทำ Business Matching ให้กับ SME เราทำในรูปแบบ B2B มานานนับ 10 ปีแล้ว แต่อีเว้นท์ในชื่อนี้เราเริ่มมาได้ 5 ปี โดยเป็นการจัดแบบ B2B2C เนื่องจาก SME มีหลากหลายประเภทธุรกิจ จึงต้องผลักดันทุกช่องทางให้เค้าโตให้ได้ เพราะหากมองตลาดค้าปลีกย้อนไปช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าทั้งร้านค้าปลีกแบบออนไลน์และออฟไลน์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาแข่งกันของร้านสะดวกซื้อ คำถามคือแล้ว SME จะอยู่ตรงไหน เพราะทุกคนก็อยากเข้าถึงผู้บริโภคกันทั้งนั้น แต่ระหว่างทางมันก็มีกลไกมากมายกว่าจะไปเจอ เช่น เวลา SME อยากเอาสินค้าไปวางขายในห้าง ก็ต้องมาเริ่มคิดว่าจะไปติดต่อใคร แล้วเค้าจะรับนัดเรารึปล่าว แล้วเราจะเข้าใจมั้ยว่ามันต้องไประดับไหน จากปัญหาเหล่านี้ เลยเป็นที่มาของการจัดงาน K SME Matching Day เพื่อเป็นตัวกลางให้ทุกฝ่ายเจอกันได้ง่ายขึ้น
ซึ่งฝ่ายจัดซื้อตัวจริงของช่องทางจัดจำหน่ายจะมาบอกเองเลยว่า ถ้า SME ต้องการนำสินค้าเข้ามาวางขายกับพวกเขา SME ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็มีคนสนใจเข้าร่วมจำนวนมากตั้งแต่ปีแรกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2019 นี้ มีผู้สมัครเข้ามาจับคู่ธุรกิจถึง 807 บริษัท และมีบริษัทที่ผ่านเกณฑ์พิจารณารอบแรกสูงถึง 525 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอาหาร รองลงมาคือธุรกิจเครื่องสำอาง เนื่องจากมีการซื้อซ้ำสูง และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จึงขายออกได้ไว
ด้านการคัดเลือก เราไม่จำกัดว่าต้องเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา มียอดจดทะเบียนธุรกิจเท่าไหร่ แต่จะดูจากสินค้า และความต้องการของผู้จัดจำหน่ายเป็นหลัก และไม่ใช่เฉพาะแต่ออฟไลน์และออนไลน์ในประเทศเท่านั้น เนื่องจากช่องทางการค้ามันมีความเชื่อมโยงหลากหลายมากขึ้น ตลาดต่างประเทศจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะเค้าก็ซื้อขายผ่านออนไลน์เหมือนกัน แต่เป็นตลาดออนไลน์อีกภาษา อีกวัฒนธรรม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ SME ไทย ที่อยากไปอยู่ตรงนั้น เพราะเมืองไทยมีของดี มีวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์
การจับคู่ธุรกิจจะช่วยสร้างจุดแข็ง เพิ่มความได้เปรียบ
การที่ SME มีพาร์ทเนอร์เป็นหน่วยงาน หรือองค์กรที่มีความเข้มแข็ง จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจมากมาย เช่น การช่วยให้สินค้าเราไปถึงมือผู้บริโภคได้กว้างกว่า และผลักดันให้เราพัฒนาสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพราะการนำสินค้าไปวางขายกับร้านค้าปลีกแบรนด์ใหญ่ๆ จะทำให้เราเห็นสภาพตลาดชัดขึ้น หรือแม้แต่การนำสินค้าไปวางขายในอีคอมเมิร์ช ก็จะทำให้ SME เห็นจุดแข็งจุดด้อยของตัวเองได้ชัดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์มากต่อการนำไปพัฒนาสินค้าให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป เพราะ SME ไทยจะเก่งเรื่องการผลิต ส่วนการเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่าย และความสามารถในการแข่งขันในตลาดนั้น ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก บางครั้งเราให้พาร์ทเนอร์ช่วยจะดีกว่า
ได้พบจัดซื้อตัวจริง ช่วย SME ไปต่อเร็วขึ้นกว่าดีลเอง
ในปีนี้เรามีช่องทางจัดจำหน่ายชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ 20 ราย ล้วนแต่เป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการอยากเอาสินค้าไปวางขายทั้งสิ้น และหาก SME จะไปนำเสนอสินค้าเองให้กับช่องทางแต่ละรายจะใช้เวลานานมาก แต่การรวมช่องทางจัดจำหน่ายชั้นนำไว้ที่นี่ที่เดียวก็จะช่วยลดเวลา เพิ่มความสะดวก และการที่เราคัดเลือกผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นเข้ามาคุยในงาน ยังจะช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่าย Win Win เพราะสามารถคุยได้ถูกคน ถูกที่ และถูกจังหวะเวลา ไม่ต้องเหนื่อยตามหากันให้เสียเวลา
ซึ่งแนวคิดการจัดงานในปีนี้ หลักๆ เราอยากจะช่วยส่งเสริม SME อยู่ 4 เรื่อง
คือ 1. นวัตกรรม โดยมุ่งไปที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์และฉลาก จึงมีบูทให้คำปรึกษาจากหน่วยงานพันธมิตรมาให้คำปรึกษาในงาน 2. การส่งผ่านสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ในเชิงมาตรฐาน เพราะเมื่อต้องปรับสเกลธุรกิจที่กว้างขึ้น จะมีวิธีปรับตัวยังไงให้พร้อม 3. เรื่องการตลาด จะทำยังไงให้ผู้บริโภครู้ว่าสินค้าเราดีจริง ผ่านหัวข้อสัมมนาจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ และ 4. เรื่องการเงิน เพื่อเสริมความแข็งแรงในทุกๆ ด้าน เราก็มีเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่คอยให้คำแนะนำผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน
สิ่งสำคัญคือจุดขาย SME ต้องแตกต่าง และไม่หยุดพัฒนารอบด้าน
ปัจจุบัน SME มักนิยมผลิตสินค้าตามกระแสโซเชียล ซึ่งตัวสินค้าไม่ได้เป็นประเด็นมากเท่ากับเมื่อเราพัฒนาสินค้ามาแล้ว ในภาพรวมทั้งหมดจุดขายคืออะไร ต้องพยายามคิดว่าจะทำยังไงที่จะสร้างจุดขายที่ Unique เพราะสินค้าของผู้ประกอบการไทยกว่า 50% เป็นสินค้าเชิงฟังก์ชันที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก เราจึงต้องเอาสินค้าของเราออกมาจับคู่ธุรกิจ เพื่อพิสูจน์ว่าสินค้าเราโดดเด่นจริงมั้ย แล้วมาดูว่าสินค้าที่ผ่านการจับคู่ธุรกิจได้ เค้ามีการพัฒนายังไง ทำไมถึงได้รับความสนใจ
สุดท้ายอยากฝากให้ SME อย่าหยุดพัฒนารอบด้าน และต้องมองการพัฒนาเป็น Total Experience เพราะตอนนี้ประเทศเราเป็นเศรษฐกิจที่นำโดยการส่งมอบประสบการณ์ให้กับคนที่มาซื้อสินค้าและบริการ (Experience Economy) ซึ่งมันแสดงถึงความใส่ใจ ฉะนั้น อย่าหยุด เพราะคนหยุดคือคนที่ตายแล้ว
หาก SME มองหาโอกาสจับคู่ธุรกิจดีๆ แบบนี้ ปีหน้าเตรียมตัวมาให้พร้อม แล้วมาพบกัน สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ Facebook K SME