SMEs ไทยมีแนวโน้มการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตาม


บีเอสเอชี้จุดอ่อนของ SMEs ไทยขาดทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ เสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการรักษาความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญของธุรกิจ

พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) องค์กรที่รณรงค์ส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เผยว่า จากปี 2561 บีเอสเอยังคงสำรวจการใช้งานซอฟต์แวร์ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง พบกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และใช้งานซอฟต์แวร์ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ในขณะเดียวกันพบแนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs

นอกจากนั้นยังพบว่าองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือใช้ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management : SAM) หรือมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และขาดการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security)

ทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อาจทำให้ความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญรั่วไหล คู่ค้าหรือนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจด้วย และอาจเลือกลงทุนกับองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องในประเทศอื่นในอาเซียน

บีเอสเอเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงได้อย่างรวดเร็ว คือความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรในการกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นอย่างถูกต้อง การเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในระดับสากล รวมถึงการนำเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารองค์กร

อ้างอิง: https://www.bsa.org/