Telemedicine เทคโนโลยีช่วยลดความเสี่ยงจากความแออัดของคนไข้


การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีที่ใช้ในวงการแพทย์อย่าง Telemedicine ที่จะเข้ามาช่วยลดภาระของคนไข้ได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดเวลาในการรอคอยเพื่อพบแพทย์ และที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้คือช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากความแออัดของผู้คนในโรงพยาบาลนั่นเอง

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ถึงการเดินทางมายังโรงพยาบาล โดยเฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่าง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิต

ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำ “ระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่” ซึ่งเป็นการรักษาออนไลน์ผ่านระบบ VDO Call และส่งยาทางไปรษณีย์ ผ่านแนวคิดยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดความแออัด ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ที่ต้องอยู่บ้านและเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการรักษา และนำเทคโนโลยีการรักษาส่งถึงบ้าน

ซึ่งผู้ป่วยที่สามารถใช้บริการนี้ ต้องเป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้ ผู้ป่วยต้องสมัครใจการรับบริการผ่าน VDO Call และรับยาทางไปรษณีย์ และผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้ สมาร์ทโฟน ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ หากผู้ป่วยสนใจ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เซ็นยินยอม เข้ารับการรักษา รอแจ้งวันนัด โดยระบบดังกล่าว รองรับสิทธิการรักษาทุกสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่ายและค่ายาเพิ่มเติม ค่าส่งยาทางไปรษณีย์ ขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษา

คาดว่าด้วยการรักษาแบบใหม่นี้จะสามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลได้กว่า 30%

ตอนนี้มีโรงพยาบาล 27 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์ที่พร้อมให้บริการรักษาแบบใหม่ ซึ่งครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

-โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
-โรงพยาบาลราชวิถี
-โรงพยาบาลเลิดสิน
-โรงพยาบาลสงฆ์
-สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
-สถาบันทันตกรรม
-สถาบันประสาทวิทยา
-สถาบันพยาธิวิทยา
-สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
-สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
-สถาบันโรคผิวหนัง
-สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
-โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
-โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี
-โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี
-โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี
-โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี
-โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี
-โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
-โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
-โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา
-โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
-โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
-โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
-โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง
-โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี
-โรงพยาบาลเวชชารักษ์ จังหวัดลำปาง

ในอนาคตจะมีการขยายบริการให้ครบทุกสถานพยาบาลในสังกัดสาธารณสุข เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถเก็บข้อมูลการรักษาของตัวเองไว้ในแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และขยายการบริการครอบคลุมกลุ่มโรคอื่น ๆ มากขึ้น