ไขข้อสงสัยว่า สัญญาณ 5G เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19


จากข่าวลือว่า “เครือข่าย 5G มีส่วนในการเร่งการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเครือข่ายเคลื่อนที่แบบเซลลูลาร์ ทำการกดระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์” สร้างความกังวลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก มาดูความจริงในเรื่องนี้กัน

เรื่องนี้ทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงบางแห่งชี้แจงว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสัญญาณ 5G มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ทาง ฟูลแฟค (Full Fact) มูลนิธิตรวจสอบข้อเท็จจริงสัญชาติอังกฤษ ได้หักล้างข่าวลือดังกล่าวว่า “นัยหลักของคำกล่าวอ้างสัญญาณ 5G สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้นไม่มีมูลอย่างสิ้นเชิง ไม่มีหลักฐานการเชื่อมโยงระหว่างไวรัสโควิด-19 กับสัญญาณ 5G แต่อย่างใด”

5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายรุ่นใหม่ที่มีความเร็วในการเชื่อมต่อมากกว่ารุ่นก่อนหน้า และข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือสัญญาณ 5G ถูกส่งกระจายด้วยคลื่นวิทยุ

“คลื่นวิทยุเหล่านี้เป็นรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (non-ionizing) ซึ่งหมายความว่าไม่ได้สร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอภายในเซลล์ แตกต่างจากรังสีเอกซ์ รังสีแกมมา และรังสียูวี ที่สามารถสร้างความเสียหายดังกล่าวได้” สื่อท้องถิ่นสหราชอาณาจักรรายงานอ้างอิงฟลูแฟค

ด้านองค์การอนามัยโลกชี้ว่าไวรัสต่าง ๆ ไม่สามารถแพร่ผ่านเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือคลื่นวิทยุ โดยโรคโควิด-19 แพร่เชื้อผ่านละอองฝอยน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพ่นออกมาขณะพูด รวมถึงติดเชื้อได้หากสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนแล้วจับตา ปาก หรือจมูก

นอกจากนั้นองค์การฯ สำทับว่าโรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ไม่มีเครือข่ายสัญญาณ 5G สอดคล้องกับฟูลแฟคที่ยกตัวอย่างว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 หนักหน่วงที่สุดอย่างอิหร่าน ซึ่งยอดผู้ป่วยทะลุ 1.6 แสนรายแล้ว ไม่มีสัญญาณ 5G

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พอล เฟลทเชอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารของออสเตรเลีย ออกมาเตือนประชาชนเกี่ยวกับการรับข้อมูลข่าวสารผิด ๆ ที่เชื่อมโยงโรคโควิด-19 กับเทคโนโลยี 5G โดยย้ำว่า “การเชื่อมโยงพวกนั้นไม่มีมูลความจริงเลย”

อ้างอิง:

https://www.xinhuathai.com/high/111344_20200604