ซินโครตรอน-มรภ.นครราชสีมา ร่วมรักษาฟอสซิลกรามช้างดึกดำบรรพ์ด้วยเทคโนโลยีสุญญากาศขั้นสูง


สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จับมือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผสานความเชี่ยวชาญของสถาบันฯ ในการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิควิศวกรรมขั้นสูง กับศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการวิจัยเชิงพื้นที่และการเข้าถึงวิสาหกิจชุมชน ยกระดับศักยภาพการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่น รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและและพัฒนานวัตกรรมในท้องถิ่น ชูตัวอย่างใช้เทคโนโลยีสุญญากาศเก็บรักษาฟอสซิลกรามช้างดึกดำบรรพ์ที่มีสี่งาและค้นพบในโคราช คาดว่าอาจจะเป็นสปีชีส์ใหม่ของโลก

 

 

นครราชสีมา : เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 ณ อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีมา
รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อใช้เทคนิคแสงซินโครตรอน และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูงที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อความร่วมมือในการวิจัย การพัฒนาการเรียนการสอน และการบริการทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันฯ

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จะนำไปสู่การบูรณาการทรัพยากรของทั้งสองหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น การร่วมวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาศักยภาพนักศึกษาโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง การผลิตชิ้นส่วนสำหรับงานวิจัยและงานพัฒนาวิศวกรรมขั้นสูง การแลกเปลี่ยนบุคลากรและข้อมูลการจัดการความรู้ และการแสวงหาแหล่งทุน เพื่อประโยชน์ต่อการวิจัยและการพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกัน”

 

 

“ก่อนหน้านี้ทั้งสองหน่วยงานมีความร่วมมือในการเก็บรักษาซากดึกดำบรรพ์กรามช้างสี่งาสกุลกอมโฟธีเรียม (Gomphotherium) ซึ่งถูกค้นพบในจังหวัดนครราชสีมา และสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ศึกษาเบื้องต้นพบว่าช้างสี่งานี้น่าจะเป็นสปีชีส์ใหม่ของโลก ซากช้างสี่งาดึกดำบรรพ์ซึ่งปัจจุบันจำเป็นต้องป้องกันการผุกร่อน ได้ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยเทคโนโลยีสุญญากาศแบบ NEG pump (Non Evaporable Getter pump) ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนพัฒนาขึ้น ซึ่งสามารถสร้างและคงระบบสุญญากาศได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งช่วยเก็บรักษาซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญนี้ให้คงสภาพเดิมและไม่ผุกร่อนไปมากกว่านี้” รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “การสร้างความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับศักยภาพการวิจัยเชิงพื้นที่ ด้วยการเชื่อมโยงกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิควิศวกรรมขั้นสูง และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากบุคลากรเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ อันจะนำไปสู่การต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ให้มีความพร้อมทางเทคโนโลยีในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนและเข้มแข็งภายใต้พื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีพันธกิจในการวิจัย ให้บริการ ส่งเสริมและถ่ายทอดการเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและการใช้ประโยชน์ นำไปสู่การยกระดับและพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สถาบันฯ จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ มาโดยตลอด