Nike – Adidas ร่วมวงเข้าสู่ตลาด NFT เป็นเจ้าของรองเท้าในโลกดิจิทัล


อีกหนึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ และเป็นเทรนด์ของผู้คนยุคใหม่ คงหนีไม่พ้น เอ็นเอฟที (NFT) หรือ Non-fungible tokens ซึ่งจะใช้ซื้อขายชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วิดีโอ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ที่อยู่ในโลกดิจิทัล

ด้วยความที่มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันจึงทำให้แบรนด์กีฬาระดับทั้ง Nike – Adidas มองเห็นช่องทางการตลาด และพร้อมเข้าร่วมวงในตลาด NFT ความคล้ายคลึงกันที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือ NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีชิ้นเดียวบนโลก ไม่สามารถผลิตซ้ำขึ้นมาได้อีก เช่นเดียวกับรองเท้าของแบรนด์ Nike – Adidas ที่มักออกสินค้าในรูปแบบลิมิเต็ด อิดิชั่นขึ้นมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แบรนด์มองว่าต่อไป NFT อาจจะอยู่ในรูปแบบของสะสม เป็นรองเท้าผ้าใบดิจิทัล หรือใช้สวมใส่ในโลกเสมือนจริงผ่านวิดีโอเกม และในเมทาเวิร์ส นอกจากนี้ NFT อาจจะได้รับสิทธิ์รับรองเท้าจริงในอนาคต โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเป็นตั๋วสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้า

ย้อนกลับไปเดือนที่ผ่านมา Nike สร้างความฮือฮาครั้งสำคัญ เมื่อตัดสินใจเข้าซื้อ RTFKT สตาร์ทอัพผู้สร้าง NFT รองเท้าผ้าใบและของสะสม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตามรอยคู่แข่งในแบรนด์อุปกรณ์กีฬาอย่าง Armour และ Adidas ที่ประสบความสำเร็จในตลาด NFT ขายสินค้าหมดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Adidas ที่สร้างยอดขายได้ถึง 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่ชุด “Into the Metaverse” ลูกค้าที่ซื้อไปในราคาเริ่มต้น 765 ดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถนำไปขายต่อทำราคามากกว่า 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ บน NFT

ด้าน Under Armour ออกรองเท้าเสมือนจริง รุ่น Genesis Curry Flow เปิดขายครั้งแรกมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันราคาขยับจาก 551 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าการซื้อรองเท้ากีฬาไปขายต่อเพื่อเก็งกำไรไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้เราได้เห็นรองเท้า Air Jordans ที่ป้ายราคาแปะไว้ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1985 ถูกเรียกราคา 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ บนแพลตฟอร์ม StockX เมื่อปีที่ผ่านมา

หากมองในมุมมองของการทำธุรกิจ ผลตอบแทนที่แบรนด์เหล่านี้จะได้รับ คือค่าลิขสิทธิ์ โดยการซื้อ-ขายแต่ละครั้งจะมีการติดตั้งโปรแกรมเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์อยู่ในบล็อกเชน ทำให้เมื่อเกิดการซื้อ-ขาย แบรนด์เจ้าของลิขสิทธิ์จะได้เปอร์เซ็นต์ตามมา แตกต่างจากการขายสินค้าจริงที่แบรนด์ไม่สามารถตามเก็บค่าลิขสิทธิ์ หรือหักรายได้จากยอดขายได้

ที่มา: wsjvoathai