เพราะอะไร? เอลซัลวาดอร์ถึงล้มเหลวกับการใช้บิตคอยน์


เอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศแรกที่ปลดล็อกบิตคอยน์ให้เป็นสกุลเงินถูกต้องตามกฎหมาย สามารถชำระเงินในชีวิตประจำวันได้เหมือนกับสกุลเงินทั่วไปควบคู่ไปกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

เรื่องนี้ถูกผลักดันโดย Nayib Bukele ประธานาธิบดี ที่ตั้งใจจะใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่าง “บิตคอยน์” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับประชาชนใช้จับจ่ายใช้สอยทั้งในเรื่องของการซื้อสินค้า และบริการ รวมถึงชาวเอลซัลวาดอร์ที่อยู่ต่างประเทศส่งเงินกลับบ้านได้เร็วขึ้น โดยประเมินว่าจะมากถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการส่งเสริมทั้งทางด้านการเงิน, การลงทุน, การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการออกนโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศด้วยการเสนอให้สัญชาติกับนักลงทุนสกุลเงินดิจิทัล เพื่อให้ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าสกุลเงินดิจิทัล มีความผันผวนค่อนข้างสูง แน่นอนการออกแอคชันก่อนใครก็นำมาสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เพราะดูเหมือนว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องใหม่ของผู้คนที่คุ้นชินกับการทำธุรกรรมแบบเดิม เช่น ธนบัตร, การโอนผ่านทางสมาร์ทโฟน สอดคล้องกับการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนเอลซัลวาดอร์ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจ และปฏิเสธแนวคิดนี้ บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า 1 BTC มีค่าประมาณเท่าไหร่

หากคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีเพียง 15% ของผู้ทำแบบสำรวจที่มีความมั่นใจในสกุลเงินดิจิทัล และมีการแสดงความคิดเห็นว่า บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย คนทั่วไปแทบไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าเป็นสกุลเงินที่ไม่มีอยู่จริง พร้อมกับตั้งคำถามว่าคนจนจะลงทุนอย่างไร เอาแค่ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันยังจะไม่พอเลย

นอกจากนี้ ผลสำรวจของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) ที่ทำการศึกษาหัวข้อเรื่อง “ARE CRYPTOCURRENCIES CURRENCIES? BITCOIN AS LEGAL TENDER IN EL SALVADOR” เป็นการตอกย้ำแสดงให้เห็นว่าเอลซัลวาดอร์พบกับความล้มเหลวในการนำบิตคอยน์ไปใช้งาน

โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 60 ยกเลิกกระเป๋าเงิน Chivo ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลแห่งชาติที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ทำให้กับประชาชน โดยให้ BTC มูลค่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัล ขณะที่ชาวเอลซัลวาดอร์ ร้อยละ 89 ไม่เคยรับเงินโอนผ่านการใช้งานแอปฯ นี้ และมีแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น ที่รับเงินเป็นบิตคอยน์

อีกทั้ง พลเมืองร้อยละ 60 ไม่ได้ดาวน์โหลดแอปฯ Chivo และส่วนใหญ่ไม่เคยใช้ตู้ Chivo ATM ที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ติดตั้งทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการใช้เงินสด บัตรเดบิต และบัตรเครดิต ยังมีอัตราเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อมองในด้านธุรกิจ ดูเหมือนว่าบริษัทในเอลซัลวาดอร์ยังไม่เปิดรับการทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์สักเท่าไหร่ แม้ว่าจะถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม โดยร้อยละ 71 ของบริษัทมีการรายงานยอดขายเป็นบิตคอยน์ แต่สุดท้ายแปลงเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

จะเห็นได้ว่า การนำสกุลเงินบิตคอยน์มาใช้ของเอลซัลวาดอร์อาจจะรวดเร็วเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องทางการเงินด้วย จำเป็นต้องมีความพร้อมในทุก ๆ ประชาชนมีความรู้เพียงพอที่จะใช้เป็น สุดท้ายแม้จะผลักดันเพียงใด หากคนใช้ไม่รู้ถึงกระบวนการ ที่มาที่ไป ก็เป็นอันจบ

ที่มา: cnbcbbcu.today