สงครามค่าเงิน ตัวการปัญหาเศรษฐกิจ


 

หลายๆ คนคงได้ยินมาสักพักแล้วว่า กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เงินฝืดและเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ บางคนก็บอกว่ายุโรปอาจจะกำลังกลายเป็นญี่ปุ่นที่เจอกับปัญหาเงินฝืดมากว่ายี่สิบปี และยังคงทำให้เศรษฐกิจตกสะเก็ดถึงทุกวันนี้

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาส่งสัญญาณหลายครั้งว่าอาจจะต้องใช้นโยบายพิเศษในการจัดการปัญหา ที่คงจะเป็นการพิมพ์เงินเพิ่มในปริมาณมหาศาลอีกรอบ มีการพูดกันถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศต่างๆ ขนาด 5 แสนล้านถึงหนึ่งล้านล้านเลยทีเดียว และตลาดการเงินเฝ้าจับตาการประชุมของ ECB ว่าจะประกาศอะไรออกมาหรือไม่

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่หลายคนคงรู้จักกันดีในฐานะประเทศที่มีระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง คนรวยมักจะเอาเงินไปเก็บไว้กับสวิสแบงก์กันเยอะๆ และสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศในยุโรปตะวันตกที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร และยังคงมีเงินสกุลของตัวเอง คือเงินฟรังก์สวิส (CHF)

สวิสจึงประกาศตรึงค่าเงินขั้นต่ำไว้ไม่ให้แข็งไปกว่า 1.20 ฟรังก์ต่อยูโรตั้งแต่ปี 2011 สมัยที่มีวิกฤติค่าเงินยูโรรอบที่แล้วที่ทำเอาค่าเงินฟรังก์สวิสแข็งปั๋ง (เพราะใครๆ ก็อยากเอาเงินออกจากยูโร) จนทำให้สวิตเซอร์แลนด์กังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขัน สวิตเซอร์แลนด์ป้องกันค่าเงินอย่างเข้มแข็งมาหลายปี จนทำให้เงินสำรองของสวิสเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในสี่ปีที่ผ่านมา และมีกว่าห้าแสนล้านยูโรในปัจจุบัน จนกระทั่งประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญาณก่อนหน้านี้ (ธนาคารกลางเพิ่งจะออกมายืนยันสองวันก่อนจะประกาศ)

โดยให้เหตุผลว่าค่าเงินยูโรอ่อนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์แล้ว การตรึงค่าเงินไว้จึงไม่จำเป็นต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันอีกต่อไป และทันทีหลังประกาศเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นกว่า 40% ซึ่งต้องถือว่าเป็นการขยับที่ใหญ่มากในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนหนึ่งเพราะคงมีคนคาดการณ์ว่าเงินฟรังก์สวิสคงอ่อนไปพร้อมๆ กับยูโรค่อนข้างเยอะ และคงมีคนกู้เงินฟรังก์สวิสไปลงทุนเงินสกุลอื่นไว้เพื่อเอาไปทำ carry trade (กู้เงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแล้วเอาไปลงทุนในเงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง) หลังประกาศคงมีคนอยากซื้อเงินฟรังก์สวิสเพื่อเอาไปคืนเยอะมากจนหาเงินฟรังก์สวิสไม่ได้และค่าเงินเลยแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีคนเจ็บตัวกันระนาว มี hedge fund บางแห่งถึงเจ๊งเลยทีเดียว

ธนาคารกลางสวิสประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินจากที่เก็บจากสถาบันการเงินเหลือ -0.75% (ใช่ครับดอกเบี้ยติดลบ) เพื่อลดแรงจูงใจไม่ให้คนมาถือเงินฟรังก์สวิส

เชื่อว่าสิ่งที่ธนาคารกลางสวิสทำคือความต้องการแยกตัวเองจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ก่อนที่ ECB กำลังจะประกาศพิมพ์เงินเพิ่มเร็วๆ นี้ เพราะถ้า ECB มีการพิมพ์เงินมากๆ ขึ้นมาจริงๆ คงมีเงินจำนวนมากไหลเข้าสวิส และการตรึงค่าเงินขั้นต่ำไว้กับยูโรหมายความว่าธนาคารกลางสวิสต้องซื้อเงินยูโรแบบไม่มีทางเลือก และต้องพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบการเงินสวิสตาม ECB อีกปริมาณมาก

การตรึงค่าเงินก็คือการยอมรับเอานโยบายการเงินของอีกประเทศมาใช้อย่างไม่มีทางเลือก แม้ว่าธนาคารกลางสวิสอาจจะสามารถดูดเงินออกจากระบบได้ (sterilize) แต่ก็มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยและคงไม่สามารถหนีนโยบายอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ไปได้ เท่ากับว่าสวิสจะเสียทั้งนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไปแม้จะก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อตลาดเงินและกระทบต่อการส่งออกในระยะสั้น และหลายคนบอกว่านี่คือความผิดพลาดครั้งใหญ่ของธนาคารกลาง แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ได้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนกลับคืนมา

เพราะในภาวะแบบนี้ เสมือนกับการมีสงครามค่าเงินระหว่างสามเงินสกุลหลักของโลก คือ ดอลลาร์ ยูโร และเยน ปีที่ผ่านค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นประมาณ 15% เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ (เงินเยนอ่อนจากประมาณ 100 เยนต่อดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วมาเป็น 118 ในตอนนี้ และยูโรอ่อนจาก 1.3-1.4 ดอลลาร์ต่อยูโร เหลือ 1.16 ในตอนนี้) และดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ เพราะเงินมีแนวโน้มไหลออกจากประเทศที่มีการพิมพ์เงินอยู่เรื่อยๆ ไปหาดอลลาร์ และแต่ละประเทศคงอยากให้เงินตัวเองอ่อนเพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นหรือนี่คือสงครามค่าเงิน

เพราะเราเริ่มเห็นประเทศเล็กๆ หลายประเทศ เช่น เกาหลี จีน และอินเดีย เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วเราควรรับมืออย่างไร ในระหว่างที่สงครามค่าเงินอาจจะดำเนินต่อไป และอาจจะมีเงินไหลเข้าจากการพิมพ์เงินเพิ่มของประเทศเหล่านี้ และเรามีข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพจากหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงแต่ถึงเราไม่ลดดอกเบี้ยตลาดก็หาทางลดดอกเบี้ยให้เอง ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เหลือเพียง 2.5% ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ

ที่มา : www.thaipublica.org