วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขาขึ้น หวั่นเงินบาทอ่อนค่า ดอกเบี้ยบาน


 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee : FOMC) ของสหรัฐอเมริกา ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) จาก 0-0.25% เป็น 0.25-0.50%นับว่าเป็น วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบ 7 ปีของสหรัฐฯเลยก็ว่าได้ หลังจากต้องคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานถึง 7 ปี

เหตุผลที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากสหรัฐฯยังคงคงอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างนี้ต่อ อาจส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกได้ และแน่นอนว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯในครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในตลาดการเงิน และเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) คาดการณ์ว่า แนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ

กรณีที่ 1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ทุกไตรมาส รวม 4 ครั้ง

กรณีที่ 2 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% จำนวน 2 ครั้ง

โดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ วิเคราะห์ว่า FOMC จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เพื่อรอดูผลกระทบของการปรับขึ้นครั้งแรก รวมถึงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯและผลกระทบต่อภาคธุรกิจด้วย โดยจะปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 จากนั้นจะพิจารณาปรับขึ้นอีกครั้งช่วงไตรมาสสุดท้าย

ผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศไทยคือ

– เงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่า ตามการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ขณะที่ตลาดเงิน และตลาดทุนของไทยมีแนวโน้มผันผวนรุนแรงยิ่งขึ้น

– อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2559 มีทิศทางปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำคัญในตลาดโลก

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่จะลดลงอีกจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผลักดันอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ให้เพิ่มขึ้นสู่ระดับเป้าหมาย และอาจทำให้ FOMC ตัดสินใจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสสุดท้ายออกไป