โจทย์ทำกำไรแบงก์ ปี 62 ลุ้นขึ้นดอกเบี้ย สินเชื่อชะลอตัว หนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ทิศทางแบงก์ไทย ปี 62 คาดยังเผชิญหลายโจทย์ท้าทายด้านการทำกำไร คาดในปี 62 สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะเติบโต 5% ชะลอลงจากที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 6% ในปี 61 ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจอาจจะเติบโต 4.5% ซึ่งได้ประโยชน์มาจากทิศทางการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 62

ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยอาจชะลอลงมาที่ 6% ในปี 62 (จากที่อาจจะขยายตัวได้สูงกว่า 8.5% ในปี 61) เนื่องจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 70% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย จะเจอมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ เม.ย. 62 ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อาจจะขยายตัวชะลอลงมาที่ 5.5% (จากที่น่าจะเติบโตด้วย ตัวเลขสองหลักในปี 61) ตามยอดขายรถยนต์ที่น่าจะหดตัวลงในปี 62 เมื่อเทียบกับยอดขายที่สูงกว่า 1 ล้านคัน ในปี 61

นอกจากนี้ คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อาจขยับขึ้นไปที่ 2.98% ในช่วงปลายปี 62 จากระดับ 2.91% ในช่วงสิ้นปี 61 (ขยับลงจาก 2.94% ในไตรมาส 3 ปี 61) โดยคาดว่าสัดส่วน NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีจะขยับอยู่ที่ 3.42% และเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 3.70% ซึ่งทำให้ธนาคารจะต้องมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น และต้องเตรียมความพร้อมรองรับกฎเกณฑ์ใหม่จะทยอยใช้ในปี 62 เช่น มาตรฐานเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ BaselIII และมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ในปี 63

ทั้งยังมองว่า กนง.มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปี 62 แต่คาดว่าแบงก์จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากสภาพคล่องในระบบธนาคารยังมีมาก 3.8 ล้านล้านบาท คาดว่าธนาคารจะปรับดอกเบี้ยแบงก์บางส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 62 ขณะที่ดอกเบี้ยทั่วไปทั้งขาเงินฝากและเงินกู้อาจจะปรับในช่วงครึ่งหลังของปีหลังผ่านพ้นช่วงเลือกตั้งไปแล้ว

แม้โอกาสที่ธนาคารจะมีการปรับ ขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 3.2% ในปี 2561 รวมถึงยังมีผลกระทบของ รายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ซึ่งอาจ จะยังติดลบไปจนถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 62 ทำให้ธนาคารต้องหารายได้จากค่าธรรมเนียมในส่วนอื่นมาชดเชย ส่วนกำไรจากเงินลงทุนยังคงขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด

ในขณะเดียวกัน ธนาคารต้องรับมือสภาวะการแข่งขันในตลาดให้บริการทางการเงินที่เข้มข้นขึ้นจากกลุ่มฟินเทค และกลุ่มอีคอมเมิร์ช ที่มีต้นทุนต่ำกว่า