สมาคมธนาคารไทย เล็งทบทวนการปล่อยสินเชื่อที่สร้างการจับจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น หวังช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 78.7% ต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แบ่งเป็น
- กลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 34%
- หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 33%
- หนี้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 18%
- หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 12%
- หนี้บัตรเครดิต 3%
ซึ่งจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยของรายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าค่าใช้จ่าย และปัจจุบันที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีที่เข้ามาและความทันสมัยของนวัตกรรมต่างๆ ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถือว่ายังเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ แต่หากหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 84% จะถือว่าเป็นระดับที่มีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบค่อนข้างมาก
โดยในส่วนนี้ สมาคมธนาคารไทยได้ตระหนักถึงการควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ซึ่งได้มีการลงนามระหว่างธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบ (Responsible Loan) ไปแล้ว
ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์จะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบในการให้สินเชื่อ ทั้งสินเชื่อรายใหญ่ไปจนถึงสินเชื่อรายย่อย อีกทั้งการให้สินเชื่อนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการให้ธนาคารพาณิชย์มีความรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการช่วยลดการก่อหนี้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการจับจ่ายในสิ่งที่เกินความจำเป็น
ซึ่งจะมีการทบทวนแนวทางการปล่อยสินเชื่อในประเภทดังกล่าว รวมถึงการออกโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นในส่วนของการจับจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อความสุขสำราญ เช่น การเที่ยวก่อนจ่ายทีหลัง โดยมีการให้ผ่อน 0% 6 เดือน และการผ่อนโทรศัพท์มือถือ 0% 10 เดือน และ 24 เดือน เป็นต้น ซึ่งโปรโมชั่นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าสินเชื่อบางประเภทที่ให้อัตราดอกเบี้ย 0% ยังสามารถทำได้ตามปกติ เพราะการให้อัตราดอกเบี้ย 0% ของสินเชื่อบางประเภท ถือเป็นการช่วยเหลือลูกค้าและลดต้นทุนให้กับลูกค้าได้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อความจำเป็น ซึ่งการทบทวนแนวทางในเรื่องนี้จะพิจารณาจากความเหมาะสมของสินเชื่อแต่ละประเภท ส่วนในแง่ผลกระทบในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อนั้น อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อในระบบบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นสิ่งดีที่จะช่วยลดหนี้ครัวเรือนลดลงได้