เปลี่ยนของเหลือใช้เป็นแฟชั่น เปิดธุรกิจรักษ์โลก เสื้อผ้า-กระเป๋า-รองเท้าจาก “เส้นใยสับปะรด”


ยุคแห่งอีโค่ ที่แบรนด์หันมารักษ์โลกเต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด โดยอุตสาหกรรมและธุรกิจหนึ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ “กลุ่มธุรกิจแฟชั่น” โดยเฉพาะในรูปแบบ Sustainable Fashion หรือการสร้างสรรค์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่เน้นไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งไม่ว่าจะแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกันอย่างถ้วนหน้า แถมยังทำให้เกิดความฮอตฮิตติดเทรนด์ กลายเป็นกระแสด้านบวกไปทั่วโลกเลยทีเดียว

 

 

วันนี้ เรามีเรื่องราวของอีกหนึ่งธุรกิจรักษ์โลก ที่ได้รับอานิสงส์อย่าง “การผลิตเส้นใยเสื้อผ้า” ที่ต้องขอบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะนี่คือเส้นใยผ้าที่ผลิตมาจาก “สับปะรด” โดย “หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา” ที่กรรมวิธีการผลิตไม่ได้มาจากตัวผลแต่อย่างใด แต่มาจากเศษใบที่เหลือทิ้งที่นำมาสร้างมูลค่าได้อย่างน่าชื่นชม

 

 

ปริยากร ธรรมพุทธสิริ กรรมการผู้จัดการ หจก.รักษ์บ้านเรา หรือคุณติ๊ก เล่าว่า 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าที่ผลิตจากเส้นใยที่ผลิตจากธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีและสิ่งปรุงแต่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งผู้บริโภคคำนึงถึงเส้นใยที่ได้จากธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อโลกในอนาคต ทำให้ธุรกิจสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

 

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าใยสับปะรดเป็นเส้นใยหนึ่งที่มีความน่าสนใจ จึงได้นำมาต่อยอดด้วยการผลิตเป็นเส้นใยผ้า ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ช่วยให้สามารถแข่งขันได้กับเส้นใยลินินที่มีการส่งเสริมการปลูกในกลุ่มยุโรปและอเมริกา สร้างให้เกิดการผลิตเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค และนอกจากจะช่วยลดการนำเข้าแล้วยังสร้างความยั่งยืนในด้านวัสดุเส้นใยธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง

 

 

“เส้นใยผ้าจากสับปะรดถือเป็นเส้นใยที่มีคุณสมบัติดีมาก มีความแข็งแรงทนทานอันดับต้นๆของโลก ไม่ขาดง่าย ไม่จำเป็นต้องรีด สามารถต่อต้านแบคทีเรีย – เชื้อรา และดูดซึมสีได้เป็นอย่างดี สำหรับการนำสับปะรดมาถักทอเป็นเส้นใยเสื้อผ้านั้นจะใช้พันธุ์สับปะรดปัตตาเวีย ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว โดยนำเศษเหลือทิ้งในส่วนของใบที่มีมากมายหลายพันกิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งของเสียเหล่านี้เป็นภาระต่อเกษตรกรผู้ปลูกมารีดให้เป็นเส้นใย ซึ่งการแปรรูปดังกล่าวได้ช่วยสร้างตลาดใหม่ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากเส้นใยอื่นๆ ทั้งยังแตกหน่อเป็นสินค้าได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้า ชุดสำเร็จรูป สร้างมูลค่าได้ในตลาดผู้ที่ชื่นชอบสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และคนในเรือนจำ (เนื่องจากมีการนำเส้นใยดังกล่าวให้คนในเรือนจำได้ทำเป็นกิจกรรมและฝึกวิชาชีพ) และยังช่วยลดสิ่งของเหลือทิ้งที่อาจยากต่อการกำจัด และตอบกระแสเศรษฐกิจสีเขียวได้เป็นอย่างดี”

 

 

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่คุณติ๊กให้ความสำคัญกับธุรกิจดังกล่าวก็คือ การนำนวัตกรรมเข้ามาสู่กระบวนการผลิต ซึ่งแต่เดิมนั้น การผลิตเส้นด้ายและการทอผ้ายังใช้แรงงานคนในการผลิตเป็นหลัก ทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้าและคุณสมบัติของเส้นใยที่ได้มีความแข็งแรงน้อย ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ตลาดต่างประเทศต้องการ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พัฒนาเครื่องต่อเกลียวเส้นใยสับปะรดอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้กว่า 60% และเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นร้อยละ 70 ทำให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และทำให้มีเวลามาคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีเส้นใยสับปะรดเป็นส่วนประกอบหลักได้เพิ่มมากขึ้น

 

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ “หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา” พัฒนา จำหน่าย และส่งออกมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ

1.เส้นใยต่อเกลียว ที่มีราคาขายกิโลกรัมละ 1,800 บาท

2.ผ้าทอ ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ หลาละ 950 บาท

และ 3. เส้นใยที่เสีย ต่อเส้นใยยาวไม่ได้ จะถูกส่งต่อไปทำวอลล์เปเปอร์ หรือกระดาษสา โดยขายในราคากิโลกรัมละ 200 บาท

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญจะอยู่ที่ตลาดยุโรปและประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้ชื่นชอบทั้งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรงทนทาน การออกแบบสินค้าประเภทต่างๆที่ไม่ฉูดฉาด เน้นความเรียบง่าย แต่สวมใส่แล้วดูดี รวมทั้งความเป็นธรรมชาติทั้งตัวเส้นใย และสีย้อม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ช่วยผลักดันให้สินค้ามีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำหรือเหมือนใคร และยังทำให้ ขายได้ในราคาที่สูงอีกด้วย

คุณติ๊กยังให้ข้อคิดทิ้งท้ายอีกว่า “คำว่านวัตกรรม จริงๆแล้วอยากให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่มีความซับซ้อน หรือเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใฝ่หาความรู้หรือเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในการประกอบธุรกิจ หากแต่เป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครทำหรือมีคนทำน้อย แต่สิ่งนั้นทำแล้วจะต้องก่อให้เกิดความแตกต่าง เกิดมูลค่า ทำไปได้ในระยะยาว ยกตัวอย่างเส้นใยผ้าจากสับปะรดเป็นสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ของดังกล่าวแม้จะเกิดจากสิ่งของเหลือทิ้งก็สามารถนำมาเป็นของใหม่ และเมื่อทำสำเร็จแล้วสินค้าก็เป็นที่ต้องการและเป็นทางเลือกใหม่ในตลาดได้

 

 

นอกจากนี้ ยังอยากให้มองว่าภูมิปัญญาชาวบ้านก็เป็นศาสตร์หรือนวัตกรรมประเภทหนึ่งที่หากนำมาปรุงแต่งกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆที่ดีหรือมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธสำคัญที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ควรนำมาปรับใช้ เพื่อสร้างทางรอดและความยั่งยืนให้กับธุรกิจในอนาคต”

สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 080-2241645 อีเมล priyakorn1645@gmail.com
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555