จับเทรนด์ตลาดผู้สูงวัยในญี่ปุ่น สินค้าและบริการไหนตอบโจทย์ไว…ได้เปรียบ


ในสังคมของประเทศญี่ปุ่น หลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าตลาดกลุ่มผู้สูงอายุเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากร ที่เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี ส่งผลให้ธุรกิจญี่ปุ่นหลายธุรกิจเริ่มมองเห็นและช่องว่างจากโอกาสนี้ โดยได้มีการปรับรูปแบบมาจับตลาดสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ

สำหรับธุรกิจใหม่ๆ ในญี่ปุ่นที่ได้มีการปรับตัวเพื่อรับสังคมผู้สูงวัย มีกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

แท็กซี่ที่มีบริการสำหรับผู้สูงอายุ

ในประเทศญี่ปุ่นผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่คนเดียว หรืออยู่กันเพียงสองสามีภรรยา ไม่มีลูกหลานให้ดูแล ทำให้การเดินทางที่ได้รับความนิยมที่ผู้สูงอายุมักเลือกใช้บริการ คือ “แท็กซี่” ซึ่งพบว่าบริษัทแท็กซี่หลายแห่งในญี่ปุ่นเริ่มปรับมาให้บริการลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องใช้บริการแท็กซี่บ่อย ๆ เช่น ไปโรงพยาบาล ธนาคาร รถแท็กซี่บางรุ่นถูกปรับให้สามารถใส่รถเข็นหรือเข็นรถเข็นขึ้นได้ ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องกลัวการก้าวขึ้นลงหรือนั่งลำบาก

 

 

ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

ปกติทั่วไปคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักทำอาหารทานที่บ้าน แต่เมื่อเริ่มสูงอายุมากขึ้น การทำอาหารก็ไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน ครั้นจะไปซื้อวัตถุดิบจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาทำอาหารก็ไม่สะดวก ทำให้หลายๆ บริษัทเห็นการเปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเข้ามาจับตลาดเพื่อให้ตอบโจทย์ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ และร้านข้าวกล่องแบบจัดส่ง อย่างกรณีร้านสะดวกซื้อ จะเห็นว่ามีแพ็คอาหารเล็กๆ บรรจุกับข้าวญี่ปุ่น เช่น ปลาย่างมิโสะ ผักต้มโชยุ ราคาแพ็คละร้อยกว่าเยน เจาะตลาดผู้สูงอายุที่รักสุขภาพ

นอกจากนี้ บางรายสามารถพัฒนาอาหารแช่แข็งที่คุณค่าทางอาหารยังอยู่ครบ จัดเป็นเซ็ตหนึ่งสัปดาห์ พร้อมนำอาหารกล่องเหล่านั้นไปส่งผู้สูงอายุถึงที่บ้าน จุดเด่นของอาหารประเภทนี้ คือ รสชาติไม่จัดเกินไป ทำให้ถูกปากผู้สูงอายุ อีกทั้งยังบอกข้อมูลทางโภชนาการและสารอาหารต่างๆ อย่างครบถ้วน ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจเลือกรับประทาน

ไม่เพียงเท่านั้น บางบริษัทที่จำหน่ายผักสดจากฟาร์ม ยังเลือกบุกตลาดผู้สูงอายุด้วยการจำหน่ายผักออร์แกนิคคุณภาพดี โดยเลือกผักพรีเมี่ยมหลากหลายชนิดแต่บรรจุในปริมาณน้อยเพื่อบรรจุกล่อง ส่งตรงถึงหน้าบ้านสำหรับผู้สูงวัย เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง

สินค้าคลายเหงา

อย่างที่รู้ๆ กันว่าผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมักจะอยู่คนเดียวหรือสองคน ไม่ได้มีลูกหลานล้อมหน้าล้อมหลังให้เลี้ยงดูแบบของไทยหากใครจำได้ ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวเป็นที่ฮือฮาในสังคมญี่ปุ่น เมื่อบริษัท Takaratomy ผู้ผลิตตุ๊กตาริกะ หรือตุ๊กตาบาร์บี้ญี่ปุ่น ได้ออกมาประกาศสมาชิกใหม่ของครอบครัวสาวน้อยริกะ สมาชิกใหม่นี้ คือ คุณยาย ซึ่งสะท้อนว่าผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมีเวลาว่างมากขึ้นนั่นเอง
แต่เดิมนั้น ในครอบครัวตุ๊กตาริกะ จะมีคุณพ่อ คุณแม่ ลูกสาว และสุนัข การที่บริษัทเพิ่มตุ๊กตาคุณยายเข้าไปนั้น เป็นเพราะบริษัทสังเกตว่า ผู้สูงอายุเริ่มอยู่บ้านเลี้ยงหลานมากขึ้น เพื่อให้คุณยายสามารถสื่อสารและเล่นสนุกกับหลานๆ ได้ ทางบริษัทจึงเพิ่มตุ๊กตาใหม่นี้เข้าไป ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอย่างดี

 

ธุรกิจจัดการชีวิตวันสุดท้าย

ธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความตาย ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจะเตรียมเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับความตายไว้ให้พร้อม เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลานหลังตนเองไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว เช่น ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวจะทำอย่างไร มรดกจะยกให้ใคร ดังนั้นจึงมีบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือผู้สูงอายุในด้านนี้ เช่น สำนักงานกฎหมายที่รับทำพินัยกรรม บริษัทที่ปรึกษาเรื่องการจัดการมรดก ร้านทำโลงศพ ก็ออกแพ็คเกจให้คนสามารถเลือกแบบงานศพตนเองไว้ได้ล่วงหน้า เพื่อจะได้เป็นไปอย่างที่ตนเองต้องการจริงๆ

ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่

ในประเทศไทยเองบริษัทต่างๆ ก็ได้หันมาผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อรองรับตลาดผู้สูงอายุที่นับวันก็ยิ่งเติบโตเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทผลิตผ้าอ้อมสำหรับเด็กมาก่อนแล้วจึงขยายไลน์ธุรกิจในภายหลัง แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีบริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่งได้เข้ามาจับตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในประเทศไทยอย่างเต็มตัว แทบไม่น่าเชื่อบริษัทนี้มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่เกือบพันล้านบาทเลยทีเดียว แม้แต่ผ้าอ้อมที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น คือ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ยี่ห้อไลฟ์ลี่ซึ่งขายดีแซงผ้าอ้อมเด็กไปแล้วและมีแนวโน้มทิ้งห่างไปเรื่อยๆ

 

 

อย่างไรก็ดี สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ของ “ญี่ปุ่น” นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ที่มีการปรับตัวของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศอย่างทันท่วงที ธุรกิจต่างหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้สูงวัยได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ซึ่งนี่น่าจะเป็นต้นแบบให้กับเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการไทย ในการอุดช่องว่างทางการตลาด สร้างโอกาสการทำธุรกิจใหม่ๆ หรือต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่ให้ตอบรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ใครปรับเร็ว…ถือว่ารอด